ระวัง โรคเหี่ยวเขียว หรือเหง้าเน่า (เชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum) ในขิง
สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศร้อนถึงร้อนจัด อาจมีลมกระโชกแรง และฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกขิง ในระยะ ปลูกใหม่ รับมือโรคเหี่ยวเขียว หรือเหง้าเน่า (เชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum)
อาการเริ่มแรก ใบเหี่ยวและม้วนเป็นหลอด มีสีเหลือง โดยจะลุกลามจากส่วนล่างขึ้นไปยังส่วนปลายยอด และแห้งตายทั้งต้น บริเวณโคนต้นและหน่อที่แตกออกมาใหม่มีลักษณะฉ่ำน้ำสีน้ำตาลเข้มถึงดำ เมื่อผ่าลำต้นตามขวางจะพบเมือกของแบคทีเรียไหลซึมออกมาเป็นสีขาวขุ่น ลำต้นเน่าและหลุดออกจากเหง้าได้ง่าย อาการบนเหง้ามีลักษณะฉ่ำน้ำและสีคล้ำ ต่อมาเหง้าจะเน่า
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. ควรเลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน และมีการระบายน้ำที่ดี
2. ไถพรวนดินให้ลึกเกินกว่า 20 เซนติเมตร จากผิวดิน และตากดินไว้นานกว่า 2 สัปดาห์ จะช่วยลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรคในดินลงได้มาก
3. พื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรค ควรรมดินเพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยโรยยูเรียผสมปูนขาว อัตรา 80 ต่อ 800 กิโลกรัมต่อไร่ จากนั้นไถกลบและรดน้ำให้ดินมีความชื้น ทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ จึงเริ่มปลูกพืช
4. ใช้หัวพันธุ์จากแปลงที่ปลอดโรค
5. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นที่เริ่มแสดงอาการของโรคเหี่ยว ให้ขุดต้นนำไปทำลายนอกแปลงปลูกทันที และโรยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุด เพื่อป้องกันการระบาดของโรค
6. ในแปลงที่มีการระบาดของโรค หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว นำส่วนต่างๆ ของพืชที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลง
7. ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ไม่ควรปลูกพืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรค เช่น พืชตระกูลขิง พืชตระกูลมะเขือ มันฝรั่ง พริก และถั่วลิสง ให้สลับปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชอาศัย เช่น ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เพื่อตัดวงจรของโรค