ระวังการเข้าทำลายมันสำปะหลัง ของเพลี้ยหอยเกล็ดขาว
13 พ.ค. 2564
195
0
ที่มา : กรมวิชาการเกษตร
ระวังการเข้าทำลายมันสำปะหลัง ของเพลี้ยหอยเกล็ดขาว
ระวังการเข้าทำลายมันสำปะหลัง ของเพลี้ยหอยเกล็ดขาว

          ใกล้เข้าสู่ฤดูฝน แต่หลังจากนั้นไม่นานเริ่มเข้าสู่ภาวะฝนทิ้งช่วง กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังให้เฝ้าระวังการเข้าทำลายของ เพลี้ยหอยเกล็ดขาว         สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง แต่จะพบมากในมันสำปะหลังที่เพิ่งปลูกใหม่อายุ 1-3 เดือน เริ่มแรกจะพบตัวเต็มวัยเพศเมียมีแผ่นคล้ายเปลือกหอยแมลงภู่ สีขาวปกคลุมลำตัว รูปร่างยาวรี เมื่อเปิดแผ่นปกคลุมลำตัวขึ้น จะพบตัว เพลี้ยหอยเกล็ดขาว ขนาดเล็ก ลำตัวสีเหลืองอ่อนจนถึงสีเหลืองเข้ม ดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณลำต้น ก้านใบ และหลังใบ ทำให้ใบเหลืองและร่วง หากเพลี้ยหอยเกล็ดขาวปกคลุมทั้งลำต้น จะทำให้ต้นแห้งตายได้ ‼ การป้องกันกำจัด ‼

     ก่อนปลูก ให้เกษตรกรเลือกใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่สะอาดปราศจากเพลี้ยหอยเกล็ดขาว หรือให้แช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังด้วยสารฆ่าแมลง มาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาคลอพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ท่อนพันธุ์นาน 10 นาที จากนั้นให้นำท่อนพันธุ์ไปผึ่งให้แห้งก่อนนำมาปลูก 

     และ หลังปลูก ให้เกษตรกรหมั่นสำรวจการระบาดของเพลี้ยหอยเกล็ดขาวอย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบการระบาดให้ถอนและเก็บต้นมันสำปะหลังที่พบเพลี้ยหอยเกล็ดขาว นำไปทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก

        จากนั้นให้ฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลง ไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 4 กรัม ผสมกับ ไวต์ออยล์ 67% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาคลอพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 4 กรัม ผสมกับ ไวต์ออยล์ 67% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ข้อแนะนำสำคัญในการผสมสารเคมีกำจัดเพลี้ยหอยเกล็ดขาว ให้ผสมในน้ำปริมาณน้อย เมื่อคนให้ละลายเข้ากันดีแล้ว ถึงจะค่อยเติมน้ำจนได้ปริมาตร ที่ต้องการ และให้ฉีดพ่นเฉพาะในจุดที่พบเพลี้ยหอยเกล็ดขาวเข้าทำลาย

ตกลง