กรมส่งเสริมการเกษตรเตือนเกษตรกรวางแผนรับมือฝนทิ้งช่วง
7 มิ.ย. 2565
61
0
ที่มา : ศูนย์ข่าวกรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตรเตือนเกษตรกรวางแผนรับมือฝนทิ้งช่วง
กรมส่งเสริมการเกษตรเตือนเกษตรกรวางแผนรับมือฝนทิ้งช่วง

กรมส่งเสริมการเกษตรเตือนเกษตรกรวางแผนรับมือฝนทิ้งช่วงกลางเดือนมิถุนายน ปี 2565 แนะปลูกพืชอายุสั้น และสร้างแหล่งกักเก็บสำรองน้ำเพื่อการเกษตร​

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2565 ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป โดยช่วงตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย อาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ประชาชนจึงควรใช้น้ำเพื่อประโยซน์สูงสุด และในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ซึ่งเป็นช่วงฝนตกชุกหนาแน่น และมีโอกาสสูงที่จะเกิดพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบนซึ่งจะส่งผลให้ฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่ ซึ่งจะสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนตุลาคม 2565 สำหรับภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกต่อไปอีกถึงกลางเดือนมกราคม 2566​  ​

กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอเตือนให้เกษตรกรที่จะเพาะปลูกพืชในช่วงเข้าสู่ฤดูฝนนี้ วางแผนกักเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ในเวลาที่ฝนทิ้งช่วง หรือปลูกพืชอายุสั้น/พืชผัก เช่น ผังบุ้ง ตำลึง กะหล่ำปลี คะน้า เพื่อป้องกันผลผลิตเสียหายกรณีขาดแคลนน้ำในช่วงดังกล่าว พร้อมแนะนำวิธีการปลูกและดูแลรักษารักษาพืชผักในช่วงฤดูฝนไว้ดังนี้​ ​

1. การเตรียมเมล็ดพันธุ์ ควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่ติดมากับเมล็ด​ ​

2. ยกแปลงให้สูงไม่ต่ำกว่า 30 ซม. เพื่อป้องกันไม่ให้รากพืชขาดอากาศเนื่องจากแช่ในน้ำนาน​ ​

3. เพิ่มปริมาณปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก เพื่อเพิ่มช่องว่างในดิน​ ​

4. ใส่ปูนขาว 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อลดความเป็นกรดของดิน​ ​

5. รดกล้าผักด้วยน้ำปูนใส สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง​ ​

6. หมั่นกำจัดวัชพืช​ ​

7. ใช้วัสดุคลุมแปลง ป้องกันความเสียหายของผิวหน้าดินและระบบรากพืชที่เกิดจากเม็ดฝน​ ​ โดยมีข้อควรคำนึงคือในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง เกษตรกรจำเป็นต้องให้น้ำแก่พืชผักอย่างเพียงพอ สม่ำเสมอเพราะหากขาดน้ำจะทำให้พืชผักโดยเฉพาะพืชผักรับประทานผล ได้รับความเสียหายหรือผลแตกเมื่อฝนตกลงมาอีกครั้ง​ ​

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ขอแนะนำให้เกษตรกร โดยเฉพาะผู้ที่ทำการเพาะปลูกนอกเขตชลประทาน สร้างแหล่งกักเก็บสำรองน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วง เพื่อเตรียมพร้อมกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในช่วงที่จะมีฝนตกชุกหนาแน่นในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ไว้ โดยขอย้ำให้เกษตรกรติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง หรือสามารถขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ได้ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน ​ ​https://doaenews.doae.go.th/archives/13138

ตกลง