"เส้นทางสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนของประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารรายสำคัญของโลก" ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ
19 ต.ค. 2564
6,191
0
เส้นทางสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนของประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารรายสำคัญของโลก
"เส้นทางสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนของประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารรายสำคัญของโลก" ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ

“ระบบอาหารที่ยั่งยืน คือกลไกสู่การบรรลุ SDGs เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความเข้มแข็งของสังคม และเสริมสร้างความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจโลก”

วารสาร GCNT ฉบับ Food Systems ชวน ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนทนาถึงเส้นทางสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนของประเทศไทย ในฐานะผู้ผลิตอาหารรายสำคัญของโลก เพื่อตอบมิติความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ทำไมระบบอาหารจึงสำคัญ

การผลิตและบริโภคอาหารเป็นเรื่องท้าทายระดับโลก ในปี 2050 โลกเราอาจมีประชากรมากถึง 9 พันล้านคน ประเด็นที่เราทุกภาคส่วนต้องร่วมกันคิดตั้งแต่วันนี้ คือเราจะผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลกจำนวนนั้นได้อย่างไร โดยไม่รบกวนโลกมากจนเกินไป เราจะผลิตอาหารอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

องค์การสหประชาชาติเล็งเห็นว่าระบบอาหารที่ยั่งยืน จะเป็นกลไกที่ช่วยให้เราเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ประชาคมโลกสร้างข้อตกลงกันเมื่อปี 2015 ว่าภายในปี 2030 เราต้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความเข้มแข็งของสังคม และเสริมสร้างความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจโลกได้ จึงมีแนวคิดที่จะระดมความคิดจากทุกภาคส่วน หารือการแก้ไข และยกระดับการผลิตอาหารให้ยั่งยืนผ่านกระบวนการ Food Systems Summit ขึ้น

ระบบอาหารที่โลกกำลังผลักดัน เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยตรง เพราะอาหารเชื่อมโยงทั้ง 17 เป้าหมาย SDGs เข้าด้วยกัน หากทุกคนไม่ลงมือทำในส่วนที่ตัวเองทำได้ เราก็พลิกโฉมระบบอาหารให้ยั่งยืนไม่ได้

สำหรับประเทศไทย ได้มีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืนและส่งเสริมความเท่าเทียม (National Pathway to Sustainable & Equitable Food Systems) ซึ่งสะท้อนแนวคิดที่ว่าระบบอาหาร เป็นปัจจัยหลักที่ส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในทุกหัวข้อ ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้ ก็ได้นำแนวคิดการพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผน

พลิกโฉมระบบอาหารประเทศไทย

ระบบอาหารประกอบไปด้วยกระบวนการ ทรัพยากร และผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่คุณค่าของอาหาร (Food Value Chain) ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ การแปรรูป ขนส่ง จัดจำหน่าย การบริโภคและจัดการของเสียที่เป็นขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์ จนถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพมนุษย์ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก

การขับเคลื่อนความยั่งยืนผ่านการพัฒนาระบบอาหาร ต้องคำนึงถึงบริบทของท้องถิ่น (Local Context) ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ เล็กลงมาถึงขั้นระดับชุมชน ร่วมกับปัจจัยระดับโลก (Global Trend)

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) จึงได้เริ่มหารือกันตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อหาคำตอบการสร้างตอบ Food Value Chain ที่ดี ตอบมิติความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ออกมาเป็น 5 เส้นทางสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนและเป็นธรรม (5 Action Tracks) ภายใต้แนวทางขององค์การสหประชาชาติ

5 Action Tracks เส้นทางสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

เส้นทางที่ 1 อิ่มดีถ้วนหน้า ความสำเร็จของเป้าหมายนี้ คือการลดความไม่เท่าเทียมของการเข้าถึงอาหาร เพื่อหยุดยั้งความหิวและการขาดโภชนาการในทุกด้าน ลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases หรือ NCDs) ทำให้คนทุกคนได้รับอาหารอย่างพอเพียงและมีสุขภาพดี ให้คนทุกคนเข้าถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัย สามารถหาได้ในปริมาณที่เพียงพอ

เส้นทางที่ 2 อิ่มดีมีสุข กรอบดำเนินการเพื่อปรับวิถีกินของผู้บริโภคให้อิ่มแบบสุขภาพดี ยืนยาว สู่อาหารที่มีโภชนาการซึ่งใช้ทรัพยาการที่น้อยลงในการผลิตและขนย้าย สร้างอุปทานของผู้บริโภคต่ออาหารที่ผลิตเพื่อความยั่งยืน เสริมสร้างความเข้มแข็งห่วงโซ่คุณค่าในพื้นที่ และส่งเสริมการนำทรัพยาการอาหารกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิล

เส้นทางที่ 3 อิ่มดีรักษ์โลก เป้าหมายนี้มีเพื่อส่งเสริมการผลิตอาหารให้เพียงพอ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษ การใช้น้ำ ดินเสื่อมโทรมและการเกิดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงทำความเข้าใจข้อจำกัดและโอกาสของเกษตรกรรายย่อย พร้อมสนับสนุนธรรมาภิบาลของระบบอาหารซึ่งปรับกระตุ้นการลดความสูญเสียอาหารและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้านลบอื่น ๆ

เส้นทางที่ 4 อิ่มดีทั่วถึง ส่งเสริมความเป็นอยู่และกระจายความเท่าเทียม เพื่อลดความยากจนโดยส่งเสริมการจ้างงานที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมสำหรับทุกคนในห่วงโซ่คุณค่าอาหาร พูดถึงการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรและการแจกจ่ายคุณค่าที่ไม่ยุติธรรม ปรับปรุงความยืดหยุ่นผ่านทางการปกป้องทางสังคม เพื่อให้มั่นใจว่า ระบบอาหารจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

เส้นทางที่ 5 อิ่มดีทุกเมื่อ กรอบดำเนินการนี้ เพื่อให้เกิดการทำงานของระบบอาหารยั่งยืนต่อเนื่อง ในพื้นที่ ๆ มีแนวโน้มการเกิดความขัดแย้งและภัยธรรมชาติ ส่งเสริมกิจกรรมทั่วโลกเพื่อปกป้องการผลิตอาหารจากผลกระทบของการระบาดของโรค เพื่อให้แน่ใจว่า ทุกคนภายในระบบอาหารได้รับการเพิ่มพลังในการเตรียมพร้อมเพื่อต้านทานและฟื้นตัวจากความไม่มั่นคง

การทำงานร่วมกันแบบพันธมิตร

เส้นทางสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนและเป็นธรรมทั้ง 5 เกิดขึ้นได้ด้วยแนวร่วมพันธมิตรที่ทำงานร่วมกัน (Coalition of Actions) สำหรับประเทศไทย การก่อร่างสร้างพันธมิตรเพื่อทำงานร่วมกันนี้ จะแบ่งเป็น 2 ระดับ

ระดับแรกผลักดันผ่าน 8 หัวข้อสำคัญคือ อาหารในโรงเรียน (School Feeding) การเสริมสารอาหารพิเศษ (Food Fortification) การส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในระบบอาหาร (Gender 50/50) การมีส่วนร่วมของเยาวชน (Youth) การจัดการการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร (Food Loss & Food Waste) การสร้างปัจจัยส่งเสริมระบบอาหาร (Food Environment) การทำเกษตรเชิงนิเวศและการเกษตรที่สร้างสมดุลแก่ธรรมชาติ (Agroecology and Regenerative Agriculture) และการพัฒนานวัตกรรม (Innovation)

ส่วนระดับที่ 2 ขับเคลื่อนผ่าน 6 หัวข้อการดำเนินงานของภาคเอกชน ประกอบไปด้วย การประเมินมูลค่าที่แท้จริงของอาหาร (True Value of Food) รายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต (100% Living Income) การผลิตโปรตีนคุณภาพสูงอย่างยั่งยืนและทุกคนเข้าถึงได้ (Sustainable, high quality protein for all) อาหารที่เสริมสารอาหาร (Fortified foods) นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Innovations & Solutions) และการดูแลสุขภาพดิน (Soil Health)

ที่มา https://globalcompact-th.com/news/detail/548

ตกลง