วันที่ ๑๖-๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑ น.ส.ปทุมวดี อิ่มทั่ว กงสุล (ฝ่ายการเกษตร)ฯ นำคณะผู้แทนมูลนิธิโครงการหลวงศึกษาดูงานด้านการเพาะเลี้ยงปลาไหลและกุ้งก้ามแดงในมณฑลกวางตุ้ง
18 ก.ค. 2561
368
0
คณะผู้แทนไทยถ่ายภาพร่วมกับผู้บริหารสมาคมประมงเขตพานหยู
คณะผู้แทนไทยถ่ายภาพร่วมกับผู้บริหารสมาคมประมงเขตพานหยู

วันที่ ๑๖-๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑ น.ส.ปทุมวดี อิ่มทั่ว กงสุล (ฝ่ายการเกษตร)ฯ นำคณะผู้แทนมูลนิธิโครงการหลวงนำโดย คุณหญิงโกมุท อุ่นศรีส่ง ศึกษาดูงานการเพาะเลี้ยงปลาไหลและกุ้งก้ามแดงในมณฑลกวางตุ้ง 

คณะได้ศึกษาดูงานฟาร์มซูเจี้ยนชางเพาะเลี้ยงปลาไหลตำบลเหินลี่ เขตหนานซา นครกว่างโจว ส่วนใหญ่เพาะเลี้ยงปลาไหลพันธุ์ญี่ปุ่นมาก เนื่องจากราคาขายดีประกอบกับผู้บริโภคทั้งต่างประทศและในประเทศมีความต้องการซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยซื้อลูกพันธุ์ปลาไหลพันธุ์ญี่ปุ่น (Anguilla japonica) มาจากโรงเพาะเลี้ยงในมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งเป็นลูกพันธุ์ที่จับจากทะเลธรรมชาติในพื้นที่มณฑลเจ้อเจียง ฝูเจี้ยน เจียงซู อุณหภูมิที่เหมาะต่อการเลี้ยงอยู่ที่ประมาณ ๑๓-๒๑ องศาเซลเซียส อายุประมาณ ๖ เดือน จะสามารถจำหน่ายในตลาดต่างประเทศได้ โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ หากจำหน่ายในตลาดจีนจะมีเลี้ยงจนถึงอายุ ๑ ปี เนื่องจากผู้บริโภคในจีนชอบปลาขนาดใหญ่ เนื้อแน่น 

คณะยังได้พบหารือกับผู้บริหารสมาคมประมงเขตพานหยู นครกว่างโจว และศึกษาดูงานการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง โดยกุ้งก้ามแดงเป็นพันธุ์ลูกกุ้งที่นำเข้ามาจากไต้หวัน โดยพันธุ์ลูกกุ้งขนาด ๑ เซนติเมตร ๑ ตัว ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ ๖-๗ เดือน สามารถจำหน่ายได้ราคาประมาณกิโลกรัมละ ๕๐๐-๗๐๐ บาท (๑ ตัวหนักประมาณ ๑๐๐-๑๕๐ กรัม) ส่วนใหญ่ส่งจำหน่ายในกรุงปักกิ่ง และนครเซี่ยงไฮ้ 

 

ทั้งนี้ ในช่วงฤดูหนาวจีนมีสินค้าประมงน้อย รัฐบาลท้องถิ่นจึงสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาซึ่งมีพื้นที่เพาะเลี้ยงประมาณ ๔ ไร่ขึ้นไป ซื้อประกันภัยพิบัติ ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นโดยกรมการคลังของนครกว่างโจวรับผิดชอบค่าใช้จ่ายประกันภัยร้อยละ ๘๐ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตวน้ำรับผิดชอบค่าใช้จ่ายร้อยละ ๒๐ โดย จ่ายให้แก่บริษัทประกันภัย China People's Property Insurance จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการประกันภัยที่ชนะการประมูล ดังนั้น เมื่อมีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดหรืออุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า ๙ องศาเซลเซียส ๓ วันต่อเนื่องกัน หรือภัยพิบัติต่าง ๆ  ที่ทำให้สัตว์น้ำ (ปลา) เสียชีวิตมากกว่าร้อยละ ๒๐  บริษัทประกันฯ จะเข้ามาดูความเสียหายและชำระค่าเสียหายโดยจ่ายชดเชยเป็นรายตัว เป็นต้น

ตกลง