วันที่ ๒๗-๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ ฝ่ายการเกษตรฯ เข้าร่วมประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยในงาน Guangzhou International Fruit Expo ๒๐๑๘๙
30 มิ.ย. 2562
194
0
กงสุล(ฝ่ายการเกษตร)ฯและคณะผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตร
กงสุล (ฝ่ายการเกษตร)ฯ และคณะผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ถ่ายภาพร่วมกับนางครองขนิษฐ รักษ์เจริญ กงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว

วันที่ ๒๗-๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ ฝ่ายการเกษตรฯ นำคณะผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ และผู้ประกอบการไทย จำนวน ๖ บริษัท เข้าร่วมประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยและผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปภายในงาน  Guangzhou International Fruit Expo ๒๐๑๙  ซึ่งต่างพึงพอใจกับการเข้าร่วมเนื่องจากเป็นงานที่มีการแสวงหาคู่ค้าและเจรจาธุรกิจ รวมถึงเปิดให้ผู้บริโภคทั่วไปเข้าชมงานด้วย ทำให้สามารถใช้โอกาสนี้ในการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค และความนิยมผลิตภัณฑ์ผลไม้ไปพร้อมกันได้ด้วย

 

งาน Guangzhou International Fruit Expo ๒๐๑๙ เป็นงานแสดงสินค้าเฉพาะทางด้านผลไม้และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้นานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ ๒ ณ นครกว่างโจว ทางผู้จัดงานได้เชิญประเทศไทยเข้าร่วมประชาสัมพันธ์ผลไม้ในงานโดยให้พื้นที่จำนวน ๑๖ คูหา โดยฝ่ายการเกษตรฯ ได้เข้าร่วมพร้อมทั้งเชิญผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตรและกลุ่มเกษตรกรร่วมประชาสัมพันธุ์ทุเรียนพันธุ์ต่าง ๆ ของไทย ได้แก่ หมอนทอง ภูเขาไฟศรีสะเกษ หลงลับแล และพวงมณี ส้มโอทับทิมสยาม มังคุด ลำไย มะม่วงน้ำดอกไม้ มะพร้าวอ่อน และขนุน ในขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้นำผู้แทนสหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัด จังหวัด  สุราษฎร์ธานี และสหกรณ์การเกษตรกันทรลักษ์ จำกัด จังหวัดศรีสะเกษ ร่วมประชาสัมพันธ์เงาะ กล้วยหอม และทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ซึ่งได้มีการแสวงหาคู่ค้าเพื่อขยายโอกาสทางการตลาดผลไม้ด้วย ในครั้งนี้มี ๑๔ ประเทศและเขตแดนต่าง ๆ เข้าร่วม ประกอบด้วย แม็กซิโก เอกวาดอร์ เปรู ชิลี อินเดีย กรีซ อุซเบกิสถาน ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย

 

ในพิธีเปิดงานฯ นางสาวปทุมวดี อิ่มทั่ว กงสุล (ฝ่ายการเกษตร)ฯ ได้ขึ้นกล่าวถึงบทบาทและความสำเร็จของงาน Guangzhou International Expo ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลไม้ของไทยและเป็นช่องทางในการจับคู่ธุรกิจการค้าผลไม้ รวมถึงนายสุชาติ จันทร์เหลือง หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี ได้ให้ข้อมูลการผลิตและการตลาดผลไม้ในประเทศไทย ตลอดจนได้แนะนำผลไม้ไทย และทุเรียนพันธุ์ต่าง ๆ ของไทยให้ผู้บริโภคชาวจีนได้ทราบถึงความหลากหลายของทุเรียนไทย

 

กิจกรรมของฝ่ายการเกษตรฯ และกรมส่งเสริมการเกษตรภายในงาน นอกจากจะประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยแล้ว ยังได้มีการสาธิตการนำผลไม้ไทยมาประยุกต์ในสำรับอาหารหวานของไทยด้วย โดยได้สาธิตการทำข้าวเหนียวทุเรียนและข้าวเหนียวมะม่วง ให้กับผู้บริโภคชาวจีนได้ทราบและชิมรสชาติทั้งผลไม้คุณภาพของไทยและอาหารหวานจากผลไม้ของไทย นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดแสดงศิลปะการแกะสลักผลไม้และการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคเกี่ยวกับผลไม้และความชื่นชอบทุเรียนของไทยทั้ง ๔ ชนิด ที่ได้นำมาให้ทดลองชิมด้วย ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ได้รับผลตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภคชาวจีนที่เข้าร่วมชมงาน โดยคูหาของประเทศไทยมีผู้เข้าชมมากที่สุดภายในงาน

 

ฝ่ายการเกษตรฯ ได้จัดทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนที่เข้าร่วมงานฯ เกี่ยวกับผลไม้และความชื่นชอบทุเรียนของไทยทั้ง ๔ ชนิด ได้แก่ หมอนทอง ภูเขาไฟศรีสะเกษ หลงลับแล และพวงมณี สรุปผลได้ดังนี้

                      ๑) ผู้ที่เข้ารับทำแบบสอบถามจำนวน ๑๐๘ คน แบ่งเป็นเพศชาย ๔๕ คน เพศหญิง ๖๓ คน ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ ๗๕.๙๓ เลือกซื้อผลไม้ที่ร้านจำหน่ายผลไม้และซุปเปอร์มาร์เก็ต ในขณะที่ร้อยละ ๒๔.๐๗ มีการเลือกซื้อผลไม้ออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์/อีคอมเมิร์ซ โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ ๙๓.๕๒ มีประสบการณ์ในการซื้อผลไม้ไทย ซึ่งผลไม้ไทยที่มีการเลือกซื้อเป็นทุเรียนร้อยละ ๙๖.๒๐

                      ๒) ความชื่นชอบทุเรียน ส่วนใหญ่ร้อยละ ๘๖.๒๗ ชอบทุเรียนสด ในขณะที่ร้อยละ ๑๓.๗๓ ชื่นชอบทุเรียนสดและแช่แข็ง  โดยร้อยละ ๕๔.๕๕ จะเลือกซื้อทุเรียนขนาดประมาณ ๓ กก. ร้อยละ ๓๐.๖๘ ยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกทุเรียนขนาดเท่าใดเนื่องจากจะพิจารณาปัจจัยของชนิดทุเรียนและราคาด้วย ในขณะที่ร้อยละ ๑๔.๗๗ จะเลือกซื้อทุเรียนขนาดประมาณ ๑ กก. อย่างไรก็ดี พบว่าร้อยละ ๙๒.๑๓ ชื่นชอบทุเรียนสุกกำลังดี ในขณะที่ร้อยละ ๗.๘๗ ชื่นชอบทุเรียนที่สุกมาก

                      ๓) ในส่วนของความพึงพอใจทุเรียนทั้ง ๔ ชนิดพบว่า

ความพึงพอใจด้าน

หมอนทอง

ภูเขาไฟศรีสะเกษ

หลงลับแล

พวงมณี

สี

18.52

16.67

19.44

45.37

กลิ่น

32.41

22.22

8.33

37.04

รสชาติ

40.74

17.59

11.11

30.56

การเลือกซื้อ

39.81

18.52

9.26

32.41

                   ผู้บริโภคมีความพึงพอใจในสีของพวงมณีมากที่สุดเนื่องจากมีสีเหลืองเข้มสะดุดตา แตกต่างจากหมอนทองที่เคยรับประทาน ในขณะที่กลิ่นของพวงมณีก็มีกลิ่นมากกว่าหมอนทอง เมื่อได้รับประทานส่วนใหญ่พึงพอใจรสชาติของหมอนทองเนื่องจากเป็นรสชาติที่คุ้นเคยถูกปาก รองลงมาชื่นชอบพวงมณีเนื่องจากมีรสจัด ในขณะที่หลงลับแลมีผู้ชื่นชอบน้อยที่สุดเนื่องจากกลิ่น และรสชาติไม่จัด ในการพิจารณาเลือกซื้อ ก่อนที่จะทำการตอบแบบสอบถามในข้อนี้ ได้มีการแจ้งระดับราคาของทุเรียนแต่ละชนิดก่อนตอบ พบว่าผู้บริโภคยังคงนิยมจะเลือกซื้อหมอนทองมากที่สุด รองลงมาคือพวงมณี เนื่องจากชื่นชอบในรสชาติในระดับราคาที่ยอมรับได้ ในขณะที่หลงลับแลจะเลือกซื้อน้อยที่สุดเนื่องจากรสชาติและกลิ่นไม่จัด และอยู่ในระดับราคาที่สูง

 

                      ๔) ผู้บริโภคยังมีความรู้จักชนิดทุเรียนของไทยน้อย เนื่องจากขาดการประชาสัมพันธ์และการทำการตลาดในจีน โดยส่วนใหญ่รู้จักแต่หมอนทอง ในขณะที่บางส่วนเริ่มรู้จักชะนีเนื่องจากฝ่ายการเกษตรฯ ได้ร่วมกับบริษัท Shenzhen Pagoda Industrial Development จำกัด ซึ่งมีร้านจำหน่ายผลไม้คุณภาพกว่า ๓,๗๐๐ สาขา ทั่วจีน ทำการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ทุเรียนชะนีให้กับผู้บริโภคชาวจีนได้รับทราบ โดยในช่วงวันที่ ๑๑-๑๔ เมษายน ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ได้ทำการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการจำหน่ายทุเรียนชะนี โดยมียอดจำหน่ายมากถึง ๓๘๘,๘๕๙ ลูก น้ำหนักรวมกว่า ๗๗๗.๗๐ ตัน คิดเป็นยอดจำหน่ายมากถึง ๑๑ เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี ๒๕๖๑ และทำสถิติมากสุดของการจำหน่ายทุเรียนชะนีของบริษัทฯ โดยในวันที่ ๑๒เมษายน ๒๕๖๒ มียอดจำหน่ายมากถึง ๒๕๕ ตัน ในหนึ่งวัน 

ตกลง