โครงการพระราชดำริฝนหลวง
14 พ.ย. 2561
1,528
0
โครงการพระราชดำริฝนหลวง
โครงการพระราชดำริฝนหลวง

เนื่องด้วย วันพระบิดาแห่งฝนหลวง ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี 

กลุ่มสารสนเทศการเกษตร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จึงขอน้อมนำพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  รัชกาลที่ 9  ที่ทรงมีพระราชดำริโครงการฝนหลวงขึ้น เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 โดยทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการ อุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ  มาเผยแพร่ ดังนี้

 

ต้นกำเนิดโครงการพระราชดำริฝนหลวง

                โครงการพระราชดำริฝนหลวง เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร ๑๕ จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ ๒-๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘ ในวันจันทร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์เดลาเฮย์ ซีดานสีเขียว จากจังหวัดนครพนมไปจังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่านจังหวัดสกลนครและ เทือกเขาภูพาน ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพมหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล วิศวกรและนักประดิษฐ์ควายเหล็กที่มีชื่อเสียงเข้าเฝ้าฯ แล้วพระราชทานแนวความคิดนั้นแก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล

          แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาความผันแปรไม่แน่วนอนของธรรมชาติในเวลานั้น อยู่ที่การจัดการทรัพยากรน้ำใน 2 วิธี คือ

(1) การสร้างเขื่อน (Check damและอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กตามลาดเขา เพื่อชะลอการไหลบ่าของน้ำจากเขาไม่ให้ท่วมพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำกินของประชาชน ในขณะเดียกันเขื่อนและอ่างเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งต่อไป

(2)   หาวิธีการทำฝนหลวง (Rainmaking) เพื่อบังคับให้เมฆตกเป็นฝนในพื้นที่ที่ต้องการ

ในเรื่องการทำฝนเทียมหรือฝนหลวงนี้ ทรงมีพระราชประสงค์ให้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยหากรรมวิธีดัดแปลงสภาพอากาศที่เหมาะสมกับประเทศไทยในการบังคับให้เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายที่ต้องการ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนอันเนื่องมาจากภัยแล้งซึ่ง ในปี พ.ศ. 2512 ได้มีการทดลองทำฝนภายใต้การนำของหม่อมราชวงศ์ เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้รับสนองพระราชดำริ ระหว่างปี พ.ศ.2512 – 1214  รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงน้อมรับวิธีการทำฝนหลวงมาปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้งตามการร้องขอของประชาชนควบคู่ไปกับการพัฒนากรรมวิธีการทำฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

 

ตลอดระยะเวลาแห่งการพัฒนาฝนหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาตามผลการปฏิบัติอย่างใกล้ชิดและทรงประดิษฐ์คิดค้นพัฒนากรรมวิธีด้วยพระองค์เอง และพระราชทานคำแนะนำให้นำไปปฏิบัติจนสัมฤทธิ์ผลในการแก้ไขวิกฤตภัยแล้งได้ตลอดมา

  

 

ตำราฝนหลวงพระราชทาน

 

 

แถวที่ 1 ช่องที่ 1 – 3

 

เป็นขั้นตอนที่ 1 เป็นการเร่งให้เกิดเมฆโดยใช้เครื่องบินเมฆอุ่น 1 เครื่อง โปรยสารฝนหลวงผงเกลือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ที่ระดับความสูง 7,000 ฟุต ในขณะที่ ท้องฟ้าโปร่งหรือมีเมฆเดิมก่อตัวอยู่บ้างความชื้นสัมพัทธ์ไม่ต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ให้เป็นแกนกลั่นตัว (Cloud Condensation Nuclei) เรียกย่อว่า CCN ความชื้นหรือไอน้ำ จะถูกดูดซับเข้าไปเกาะรอบแกนเกลือแล้วรวมตัวกันเกิดเป็นเมฆ ซึ่งเมฆเหล่านี้จะพัฒนาเจริญ ขึ้นเป็นเมฆก้อนใหญ่ อาจก่อยอดถึงระดับ 10,000 ฟุต ได้

 

 

แถวที่ 2 ช่องที่ 1 – 4

 

เป็นขั้นตอนที่ 2 เป็นการเร่งการเจริญเติบโตของเมฆที่ก่อขึ้นหรือเมฆเดิมที่มีอยู่ตามธรรมชาติและก่อยอดขึ้นถึงระดับ 10,000ฟุต ฐานเมฆสูงไม่เกิน 7,000ฟุต ใช้เครื่องบินแบบเมฆอุ่นอีกหนึ่งเครื่อง โปรยสารฝนหลวงผงแคลเซียมคลอไรด์ (CaCl2) เข้าไปในกลุ่มเมฆที่ระดับ 8,000ฟุต (หรือสูงกว่าฐานเมฆ 1,000ฟุต)ทำให้เกิดความร้อน อันเนื่องมาจากการคายความร้อนแฝง จากการกลั่นตัวรอบ CCN รวมกับความร้อนที่เกิดจาก ปฏิกิริยาของไอน้ำกับสารฝนหลวง CaCl2 โดยตรงและพลังงานความร้อนจาก แสงอาทิตย์ตามธรรมชาติ จะเร่งหรือเสริมแรงยกตัวของมวลอากาศภายในเมฆยกตัวขึ้น เร่งกิจกรรมการกลั่นตัวของไอน้ำ และการรวมตัวกันของเม็ดน้ำภายในเมฆ ทวีความหนาแน่นจนขนาดของเมฆใหญ่และก่อยอดขึ้นถึงระดับ 15,000 ฟุต ได้เร็วกว่าที่จะปล่อยให้เจริญขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งยังเป็นส่วนของเมฆอุ่น จนถึงระดับนี้ การยกตัวขึ้นและจมลงของ มวลอากาศ การกลั่นและการรวมตัวของเม็ดน้ำยังคงเป็นอย่างต่อเนื่องแบบปฏิกิริยาลูกโซ่ แต่บางครั้งอาจมีแรงยกตัวเหลือพอที่ยอดเมฆอาจ พัฒนาขึ้นถึงระดับสูงกว่า 20,000 ฟุต ซึ่งเป็นส่วนของเมฆเย็น เริ่มตั้งแต่ระดับประมาณ 18,000 ฟุตขึ้นไป (อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส)

 

 

แถวที่ 3 ช่องที่ 1 – 4

 

เป็นขั้นตอนที่ 3 เป็นการเร่งหรือบังคับให้เกิดฝน เมื่อเมฆอุ่นเจริญเติบโตขึ้นจนเริ่ม แก่ตัวจัด ฐานเมฆลดระดับต่ำลงประมาณ 1,000 ฟุต และเคลื่อนตัวใกล้ เข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย ทำการบังคับให้ฝนตกโดยใช้เทคนิคการโจมตี แบบ Sandwich โดยใช้เครื่องบินเมฆอุ่น 2 เครื่อง เครื่องหนึ่งโปรยผงโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ทับยอดเมฆ หรือไหล่เมฆที่ระดับไม่เกิน 10,000 ฟุต ทำด้านเหนือลม อีกเครื่องหนึ่งโปรยผง ยูเรีย (Urea) ที่ระดับฐานเมฆด้านใต้ลม ให้แนวโปรยทั้งสองทำมุมเยื้องกัน 45 องศา เมฆจะทวีความหนาแน่นของเม็ดน้ำขนาด ใหญ่และปริมาณมากขึ้น ล่วงหล่นลงสู่ฐานเมฆทำให้ฐานเมฆหนาแน่นจนใกล้ตกเป็นฝน หรือเริ่มตกเป็นฝนแต่ยัง ไม่ถึงพื้นดิน หรือตกถึงพื้นดินแต่ปริมาณยังเบาบาง

 

 

 

แถวที่ 4 ช่องที่ 1 – 3

 

เป็นขั้นตอนที่ 4 เป็นการเสริมการโจมตีเพื่อเพิ่มปริมาณฝนให้สูงขึ้น เมื่อกลุ่มเมฆ ฝนตามขั้นตอนที่ 3 ยังไม่เคลื่อนตัวเข้าสู่เป้าหมาย ทำการเสริมการโจมตี เมฆอุ่นด้วยสารฝนหลวงสูตรเย็นจัดคือน้ำแข็งแห้ง (Dry Ice) ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำระดับ –78 องศาเซลเซียส ที่ใต้ฐานเมฆ 1,000 ฟุต จะทำให้อุณหภูมิของ มวลอากาศใต้ฐานเมฆ ลดต่ำลงและความชื้นสัมพัทธ์สูงขึ้นจะทำให้ฐานเมฆยิ่งลดระดับต่ำลงปริมาณฝนตกหนาแน่นยิ่งขึ้น และชักนำให้กลุ่มฝนเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่เป้าหมายหวังผลได้แน่นอนและเร็วขึ้น

 

 

 

แถวที่ 5 ช่องที่ 1 – 3

 

เป็นขั้นตอนที่ 5 เป็นการโจมตีเมฆเย็นด้วย Agl ขณะที่เมฆพัฒนายอดสูงขึ้นในขั้น ตอนที่ 2 ถึงระดับเมฆเย็น และมีแค่เครื่องบินเมฆเย็นเพียงเครื่องเดียว ทำการโจมตีเมฆเย็นโดยการยิงพลุสารฝนหลวงซิลเวอร์ไอโอไดด์ (Agl) ที่ระดับความสูงประมาณ 21,500ฟุต ซึ่งมีอุณหภูมิระดับ –8 ถึง –12 องศาเซลเซียส มีกระแสมวล อากาศลอยขึ้นกว่า 1,000 ฟุตต่อนาที และมีปริมาณน้ำเย็นจัดไม่ต่ำกว่า 1 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่ง เป็นเงื่อนไขเหมาะสม ที่จะทำให้ไอน้ำระเหยจากเม็ดน้ำเย็นยิ่งยวด (Super cooled vapour) มาเกาะตัวรอบแกน Agl กลายเป็นผลึกน้ำแข็งได้ด้วยประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ไอน้ำที่แปรสภาพเป็นผลึกน้ำแข็งจะทวีขนาดใหญ่ขึ้นจนร่วงหล่นลงมา และละลายเป็นเม็ดฝนเมื่อเข้าสู่ระดับเมฆอุ่น และจะทำให้ไอน้ำและเม็ดน้ำในเมฆอุ่นเข้ามาเกาะรวมตัว กันเป็นเม็ดใหญ่ขึ้น ทะลุฐานเมฆเป็นฝนตกลงสู่พื้นดิน

 

 

 

แถวที่ 6 ช่องที่ 1 – 3

 

แถวที่ 6 ช่องที่ 1 – 3 เป็นขั้นตอนที่ 6 เป็นการโจมตีแบบ SUPER SANDWICH จะทำได้ต่อเมื่อมีเครื่องบินปฏิบัติการทั้งเมฆอุ่นและเมฆเย็นใช้ปฏิบัติการได้ ครบถ้วนขณะที่ทำการโจมตีเมฆอุ่นตามขั้นตอนที่ 3 และ 4 ทำการโจมตีเมฆเย็นตามขั้นตอนที่ 5 ควบคู่กันไปในขณะเดียวกัน จะทำให้ฝนตกหนักและต่อเนื่องนานและ ปริมาณน้ำฝนสูงยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นการประสานประสิทธิภาพของการโจมตีเมฆอุ่นในขั้นตอนที่ 3 และ 4 และโจมตีเมฆ เย็นในขั้นตอนที่ 5 ควบคู่กันไปในขณะเดียวกันเทคนิคการโจมตีนี้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า SUPER SANDWICH

 

 

 

พื้นที่รับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาค

ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จำนวนจังหวัด พื้นที่รับผิดชอบ อ่างเก็บน้ำ

1.ภาคเหนือ

โทร.053-275-051 และ 053-903010

15 เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา เชียงราย สุโขทัย แม่ฮ่องสอน ตาก พิษณุโลก แพร่ น่าน พิจิตร กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ภูมิพล สิริกิติ์ กิ่วคอหมา กิ่วลม  แม่กวงอุดมธารา แม่งัดสมบูรณ์ชล  แควน้อยบำรุงแดน

2. ภาคกลาง

(นครสวรรค์/ลพบุรี)

โทร.056-256-018 และ 056-256-569

14 นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมะานี กรุงเทพฯ ทับเสลา ป่าสักชลสิทธิ์ ศรีนครินทร์ กระเสียว   วชิราลงกรณ์

3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น)

โทร. 043-468-217

20 ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี บึงกาฬ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด นครพนม เลย สกลนคร หนองคาย มุกดาหาร หนองบัวลำภู อุบลราชธานี สุรินทร์ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลรัตน์ จุฬาภรณ์ ลำปาว ลำตะคอง ลำพระเพลิง ลำแซะ ห้วยหลวง ลำนางรอง ลำมูลบน ลำปลายมาศ ลำอูน น้ำพุง

4. ภาคตะวันออก (ระยอง/สระแก้ว) 

โทร. 038-025-729

8 ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ขุนด่านปราการชล พระปรง สียัด บางพระ ดอกกราย หนองปลาไหล ประแสร์ คลองพระพุทธ

5. ภาคใต้

(สุราฏร์ธานี/สงขลา)

โทร. 077-268-870

20 ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ภูเก็ต สงขลา พัทลุง พังงา สตูล กระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช ระนอง นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ตรัง

แก่งกระจาน

ปราณบุรี

รัชชประภา

บางลาง

รวมทั้งหมด 5 ศูนย์ 77   36 เขื่อน

 

ข้อมูล (Credit) : กรมฝนหลวงและการบินเกษตร  http://www.royalrain.go.th/royalrain/

 

จัดทำ/เรียบเรียง :  กลุ่มสารสนเทศการเกษตร  สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกำแพงเพชร

ตกลง