ระวัง โรคแอนแทรคโนส (เชื้อรา Colletotrichum sp.) ในมะปราง มะยงชิด
28 มี.ค. 2567
38
0
ระวัง โรคแอนแทรคโนส (เชื้อรา Colletotrichum sp.) ในมะปราง มะยงชิด
ระวัง โรคแอนแทรคโนส (เชื้อรา Colletotrichum sp.) ในมะปราง มะยงชิด

สภาพอากาศในช่วงนี้สภาพอากาศร้อน มีพายุฤดูร้อน เตือนผู้ปลูกมะปราง มะยงชิด ในระยะ หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต รับมือโรคแอนแทรคโนส (เชื้อรา Colletotrichum sp.) เชื้อสาเหตุโรคสามารถเข้าทำลายพืชได้ทุกระยะ อาการบนใบ พบแผลรูปร่างไม่แน่นอน ขอบแผลชัดเจนเป็นสีน้ำตาลเข้ม กลางแผลมีสีน้ำตาลอ่อนและมีลักษณะบางใสกว่าเนื้อใบรอบๆ เมื่อความชื้นสูงแผลที่เกิดบนใบอ่อนจะขยายใหญ่อย่างรวดเร็ว หากมีแผลจำนวนมากจะขยายติดกันทั้งผืนใบ ทำให้ใบบิดเบี้ยว หรือไหม้แห้ง ถ้าอาการของโรครุนแรงจนถึงระยะออกดอก เชื้อสาเหตุโรคจะเข้าทำลายช่อดอกเห็นเป็นจุดสีน้ำตาลดำ กระจายบนก้านดอก ทำให้ดอกเหี่ยวและหลุดร่วง ไม่ติดผล หากเชื้อสาเหตุโรคเข้าทำลายรุนแรงในระยะผลอ่อน ผลที่เป็นโรคจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำและร่วงหล่น เชื้อสาเหตุโรคนี้สามารถแฝงอยู่ที่ผลอ่อน โดยไม่แสดงอาการของโรค แต่จะแสดงอาการเมื่อผลแก่ โดยพบจุดแผลสีดำเล็กๆ ต่อมาแผลขยายลุกลาม บริเวณแผลอาจพบรอยแตก ทำให้เน่า
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
๑. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบพืชเริ่มมีอาการของโรค ตัดแต่งและเก็บส่วนที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค
๒. กำจัดวัชพืชรอบโคนต้น เพื่อลดความชื้นในทรงพุ่ม
๓. ควบคุมปริมาณธาตุอาหารให้เหมาะสม ไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีค่าไนโตรเจนมากเกินไป
๔. แหล่งปลูกที่พบการระบาดของโรคเป็นประจำ ในช่วงแตกใบอ่อน เริ่มแทงช่อดอก และหลังติดผลอ่อน ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช
แมนโคเซบ ๘๐% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๕๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ อะซอกซีสโตรบิน ๒๕% เอสซี อัตรา ๑๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ โพรคลอราซ ๔๕% อีซี อัตรา ๑๕ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร พ่นทุก ๗ - ๑๐ วัน ในช่วงติดผล หากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค คือ มีฝนตกและอากาศร้อนชื้น ควรพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชดังกล่าว เพื่อป้องกันการระบาดของโรค และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน
๕. หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง โดยเฉพาะกิ่งที่เป็นโรค และเก็บส่วนที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคในฤดูกาลผลิตต่อไป
**** ควรหลีกเลี่ยงการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช ในช่วงดอกบาน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการผสมเกสรของพืช

 
ที่มา : สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
 

ตกลง