ระวัง โรคแส้ดำ (เชื้อรา Sporisorium scitamineum ชื่อเดิม Ustilago scitaminea) ในอ้อย
3 เม.ย. 2567
67
0
ระวังโรคแส้ดำ(เชื้อราSporisoriumscitamineumชื่อเดิม
ระวัง โรคแส้ดำ (เชื้อรา Sporisorium scitamineum ชื่อเดิม Ustilago scitaminea) ในอ้อย

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศร้อน มีฝนตกบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกอ้อย ในระยะ อ้อยปลูกใหม่ ระยะอ้อยแตกกอ รับมือโรคแส้ดำ (เชื้อรา Sporisorium scitamineum ชื่อเดิม Ustilago scitaminea) ส่วนยอดสุดของหน่อหรือลำอ้อยที่เป็นโรค หรือยอดสุดของหน่ออ้อยที่งอกจากตาข้างของลำที่เป็นโรค มีลักษณะคล้ายแส้ยาวสีดำ เกิดจากเชื้อราสาเหตุโรคสร้างสปอร์สีดำจำนวนมาก รวมตัวกันแน่นอยู่ภายในเนื้อเยื่อผิวของใบยอดสุดที่ม้วนอยู่ ระยะแรกจะมีเยื่อหุ้มบาง ๆ สีเทาหุ้มแส้ดำไว้ และเยื่อหุ้มจะแตกออกเมื่อมีการสร้างสปอร์จำนวนมาก ทำให้เห็นมีลักษณะคล้ายแส้สีดำตั้งตรงหรือม้วนงอ ส่งผลให้ต้นอ้อยแคระแกร็น ลำผอมยาว ข้อสั้น ใบแคบเล็ก แตกกอจำนวนมาก เมื่ออาการรุนแรงอ้อยจะแห้งตาย
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. ใช้พันธุ์ต้านทานโรค
2. เลือกใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่ไม่มีการระบาดของโรคแส้ดำและเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้
3. แช่ท่อนพันธุ์ในสารป้องกันกำจัดโรคพืช ไตรอะดิมีฟอน 25% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรพิโคนาโซล 25% EC อัตรา 16 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร แช่นาน 30 นาทีก่อนปลูก
4. หมั่นตรวจแปลงอ้อยอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการโรค ให้รีบตัดส่วนที่เป็นแส้ดำ โดยระวังไม่ให้สปอร์ฟุ้งกระจาย และนำไปทำลายนอกแปลงทันที ในกรณีที่ต้นยังเล็กให้ขุดกอที่แสดงอาการโรคออกทั้งกอ เนื่องจากตัดเฉพาะส่วนที่เป็นแส้ดำออก อาจจะยังมีอาการแส้ดำขึ้นมาได้อีกภายในกอนั้น
5. หากพบการระบาดของโรครุนแรง ควรไถรื้อแปลง กำจัดกออ้อยออกจากแปลงให้หมด และปลูกพืชชนิดอื่นแทน หรือปลูกพืชบำรุงดิน เช่น ปอเทือง พืชตระกูลถั่ว เพื่อตัดวงจรชีวิตของเชื้อสาเหตุโรค

ที่มา : สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร

ตกลง