ด้วงแรดมะพร้าว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oryctes rhinoceros (Linnaeus)
การเข้าทำลาย ตัวเต็มวัยกัดเจาะโคนทางใบมะพร้าวทำให้ทางใบหัก และกัดเจาะทำลายยอดอ่อนทำให้ทางใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วๆ คล้ายรูปสามเหลี่ยม บริเวณรอยแผลที่ถูกด้วงแรดกัดทำให้ด้วงงวงเข้ามาวางไข่ หรือเป็นสาเหตุให้เกิดโรคยอดเน่าจนถึงตายได้ในที่สุด
พืชอาหาร ได้แก่ มะพร้าว พืชตระกูลปาล์ม
ฤดูการระบาด ระบาดตลอดทั้งปี โดยด้วงแรดผสมพันธ์และวางไข่ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม และมักพบความเสียหายในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคม
การป้องกันกำจัด
วิธีเขตกรรม กำจัดแหล่งขยายพันธุ์ ดังนี้
ฝังซากลำต้นหรือตอของมะพร้าว
เกลี่ยกองซากพืช กองมูลสัตว์ให้กระจายออก โดยมีความสูงไม่เกิน 15 ซม.
หมั่นพลิกกลับกองมูลสัตว์ หรือนำใส่ถุงปุ๋ยผูกปากให้แน่น และนำไปเรียงซ้อนกันไว้
วิธีกล
หมั่นทำความสะอาดบริเวณคอมะพร้าวตามโคนทางใบ หากพบรอยแผลเป็นรูใช้เหล็กแหลมแทงหาด้วงแรดเพื่อกำจัด
ใช้กับดักฟีโรโมนล่อจับตัวเต็มวัยและนำมาทำลาย
ชีววิธี ทำกองล่อให้ตัวเต็มวัยมาไข่ เมื่อเจริญเป็นตัวอ่อน
ใช้เชื้อราเมตาไรเซียมโรย หรือคลุกเพื่อทำลาย
การใช้สารเคมี โดยเลือกสารใดสารหนึ่ง ดังนี้ ไดอะซินอน 60% EC หรือคาร์โบซัลแฟน 20% EC อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณคอหรือยอดมะพร้าว โดยใช้ปริมาณ 1-1.5 ลิตร ทุกๆ 15-20 วัน ควรใช้ 1-2 ครั้งช่วงระบาด