กระทรวงเกษตรฯ หารือโครงการการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์สำหรับมะพร้าวน้ำหอมอย่างยั่งยืน (ReCAP)
19 ต.ค. 2564
596
0
กระทรวงเกษตรฯ หารือโครงการการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์สำหรับมะพร้าวน้ำหอมอย่างยั่งยืน (ReCAP)
กระทรวงเกษตรฯหารือโครงการการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์สำหรับมะพร้าวน้ำหอมอย่างยั่งยืน
กระทรวงเกษตรฯ หารือโครงการการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์สำหรับมะพร้าวน้ำหอมอย่างยั่งยืน (ReCAP)

      นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังอนุญาตให้นายเบนจามิน แมนด์ (Benjamin Mand) CEO บริษัท ฮาร์มเลส ฮาร์เวสท์ (Harmless Harvest) จำกัด และนางพจมาน วงศ์สง่า Project Director, Agriculture and Food จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เข้าพบผ่านการประชุมทางไกลเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินโครงการการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์สำหรับมะพร้าวน้ำหอมอย่างยั่งยืน (Regenerative Coconut Agriculture Project: ReCAP) ว่า โครงการ ReCAP มีพื้นที่โครงการใน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ราชบุรี สมุทรปราการ และนครปฐม และมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปลูกมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นแบบผสมผสาน สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ลดการใช้สารเคมี และสร้างรายได้ให้เกษตรกร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และเกษตรยั่งยืนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ทั้งกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรได้สนับสนุนการพัฒนาสื่อฝึกอบรมการทำสวนมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ และส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่ มีเกษตรกรกว่า 350 ราย ที่ได้รับการฝึกอบรมให้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ และเกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้

          นายเบนจามิน แมนด์ เปิดเผยว่า มะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ของไทยมีคุณภาพดีที่สุดในบรรดามะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์จากประเทศต่างๆ และได้รับความนิยมสูงในหมู่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ของไทยในปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค บริษัท Harmless Harvest จำกัด จึงขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาขยายพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) และมาตรฐานสากลอื่นๆ เช่น IFOAM นอกจากนี้ นายเบนจามินฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการผลิตที่ลดโลกร้อน   

ในโอกาสนี้ รองปลัดฯ ระพีภัทร์ ขอให้บริษัท Harmless Harvest จำกัด และ GIZ สนับสนุนการขยายโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย ทั้งพืชผักและผลไม้ไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และตลาดที่มีศักยภาพอื่นๆ และมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรพิจารณาการเสริมสร้างความร่วมมือกับบริษัท Harmless Harvest จำกัด และ GIZ ในอนาคตต่อไป

โครงการ ReCAP เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท Harmless Harvest จำกัด กับ GIZ ผ่านการสนับสนุนทางการเงินของ Harmless Harvest และ Danone Ecosystem Fund โดยบริษัท Harmless Harvest จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มและน้ำผลไม้ของสหรัฐอเมริกา จำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวระดับพรีเมี่ยม ยี่ห้อ Harmless Harvest ซึ่งมีราคาสูงกว่าน้ำมะพร้าวทั่วไปถึง 3 เท่า (ราคาจำหน่าย 4-5 เหรียญสหรัฐ ต่อขนาด 16 ออนซ์) และเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคชาวสหรัฐอเมริกาซึ่งใช้วัตถุดิบน้ำมะพร้าวคุณภาพจากประเทศไทย และจากการหารือในครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยส่งเสริมการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์คุณภาพจากประเทศไทยได้มากขึ้น และยังต่อยอดไปยังสินค้าเกษตรอินทรีย์อื่นๆ ของไทยได้อีกด้วย

x
  • รวมเว็บไซต์ทั้งหมด
  • ภาคเหนือ
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • ภาคกลาง
  • ภาคตะวันออก
  • ภาคใต้
สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง