กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ (กล้วยหอมทอง) ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี
11 เม.ย. 2567
99
0
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ (กล้วยหอมทอง) ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี

ขับเคลื่อนงานระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ด้วยเศรษฐกิจแบบองค์รวม และพัฒนายกระดับสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง”

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2567 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง พร้อมด้วย นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวเสาวลักษณ์ ศุภกมลเสนีย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขตตรวจราชที่ 2 ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม โดยมี นางสาวธนียา นัยพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นางธนินท์พรรณ ภววัฒนานุสรณ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดปทุมธานี หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดปทุมธานี และนายนุกุล นามปราศรัย ประธานกลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ ให้การต้อนรับ ณ ตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี

กล้วยหอมทองเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดและเป็นพืชหลักของอำเภอหนองเสือ มีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองรวม 8,585 ไร่ เฉพาะในตำบลนพรัตน์มีพื้นที่ปลูก 3,183 ไร่ และเกษตรกรได้ร่วมตัวกันจัดตั้งแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ ประธาน (นายนุกูล นามปราศรัย) เพื่อรวมกันผลิตและจำหน่าย โดยมีตลาดรองรับที่แน่นอน การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิต การเพิ่มมูลค่า การตลาด  และการบริหารจัดการร่วมกัน ปัจจุบันมีเกษตรกรสมาชิก 23 ราย พื้นที่ปลูก 800 ไร่ สมาชิกได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต GAP จำนวน 13 ราย และได้การรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI จำนวน 21 ราย โดยการผลิตและจำหน่ายเกษตรกรได้มีการวางแผนการผลิต “ตลาดนำการผลิต” สินค้าจึงไม่ล้นตลาด และกล้วยหอมทองมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ ผลใหญ่ยาว เปลือกบาง ผิวนวล เนื้อเหนียวแน่น ผลดิบจะมีสีเขียวนวล เมื่อสุกจะมีสีทองนวล รสชาติหวานหอม และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ


ผลผลิตกล้วยตกเกรด โดยกลุ่มได้นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยหอมทอดอบกรอบ (หอมนอกกรอบ) ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยจำหน่ายให้กับร้านค้าชุมชน หน่วยงาน ออกงานแสดงสินค้าและออนไลน์ ซึ่งสินค้าอยู่ระหว่างขอรับรองมาตรฐาน อย. และผลิตภัณฑ์กล้วยหอมทองทอดสูญากาศ (กล้วยป๊อป)

ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ มีนโยบาย/ข้อสั่งการ ดังนี้

1. กล้วยหอมทอง ในต่างประเทศนิยมบริโภคและต้องการนำเข้าปีละจำนวนมากทั้งกล้วยผลสดและผลิตภัณฑ์แปรรูป เพื่อผลักดันให้กลุ่มมีการส่งออก ให้กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูล ศักยภาพการผลิต และแนวทางการขับเคลื่อนการส่งออก

2.  ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยหอมทองทอดสุญญากาศ ซึ่งกลุ่มยังขาดอุปกรณ์การผลิต และมอบให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ สนับสนุนเครื่องผลิตกล้วยทอดสุญญากาศ

3.  ส่งเสริมการเลี้ยงปลายี่สกใน ร่องสวน เพื่อเพิ่มรายได้ ให้สำนักงานประมงจังหวัดปทุมธานีจัดหาพันธุ์ปลา

4.  ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก

งบพัฒนาจังหวัดปทุมธานี ให้ที่ทำการปกครองอำเภอหนองเสือ/สำนักงานเกษตรอำเภอหนองเสือ พิจารณาดำเนินการต่อไป

 

ที่มา : กลุ่มยุทธศาสตร์พัฒนาการเกษตร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดปทุมธานี

เรียบเรียง : กลุ่มสารสนเทศการเกษตร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดปทุมธานี




 

 

ตกลง