การทำนาโยน
23 ส.ค. 2564
116
0

การทำนาแบบโยนกล้ามีอยู่ 4 ขั้นตอน ดังนี้

ภาพการเพาะกล้า
โดย  นางสาวสุดารัตน์   แก้วบัวดี

        1.ขั้นตอนการเตรียมเพาะกล้าพันธุ์ ซึ่งเตรียมได้ 2 แบบ คือ
      
วิธีเตรียมถาดเพาะกล้าแบบแห้ง  โดยย่อยดินแห้งให้ละเอียด เม็ดดินโตไม่เกิน 0.5 ซม. ดินนั้นต้องไม่มีเมล็ดข้าววัชพืช นำถาดพลาสติกมาวางกับพื้นที่ ที่เตรียมไว้ พื้นที่ต้องเสมอกัน โดยวางเป็นแถวตอน 2-4 แผ่น (แล้วแต่ความสะดวกในการปฏิบัติงาน) หว่านดินไปก่อนประมาณ 50-70% จากนั้นหว่านเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ (แช่ 1 คืน หุ้ม 1 คืน หรือข้าวแห้ง) อัตราประมาณ 3-4 กก.ต่อ 50-60 ถาด (ต่อไร่) แล้วหว่านดินตามลงไปให้เต็มเสมอปากหลุมพอดี อย่าให้ดินล้นปากหลุมเพาะ เพราะจะทำให้รากข้าวพันกันเวลาโยนต้นกล้า มันจะไม่กระจายตัว การใช้แรงงานย่อยดินแห้งและเพาะข้าว 1 คน ต่อ 150-200 ถาดต่อ 1 วัน (หว่านได้ 2-3 ไร่) การให้น้ำระยะแรก ๆ ต้องให้ฝอยละเอียด ระวังอย่าให้เมล็ดข้าว กระเด็น หรือให้น้ำแบบท่วมพื้นแปลง เพราะน้ำจะซึมเข้าก้นถาดหลุมเอง ให้รักษาความชื้นจนกว่าข้าวงอก หากมีฝนตกให้หาวัสดุหรือกระสอบป่านเก่ามาคลุมจนกว่ารากจะงอก วิธีนี้สามารถเพาะเมล็ดในร่มและย้ายถาดไปที่ที่เตรียมไว้ พอข้าวกล้าอายุ 12-16 วัน สามารถนำไปโยนได้ทันที ความยาวต้นกล้าประมาณ 3-5 นิ้ว ซึ่งก็แล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์ของวัสดุเพาะ ใช้พื้นที่เพาะกล้าประมาณ 12-15 ตารางเมตรต่อ 50-60 ถาด หว่านได้ 1 ไร่   วิธีเพาะกล้าแบบแห้งนี้ ได้คิดค้นวิธีหยอดเมล็ดพันธุ์ที่แม่นยำ สามารถควบคุมดินและเมล็ดพันธุ์ตามต้องการได้ เป็นอุปกรณ์ต้นแบบเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดได้ 

     วิธีเตรียมถาดเพาะกล้าแบบเปียก โดยเลือกแปลงนาที่ไม่มีข้าววัชพืชและวัชพืชทั่วไประบาด มีการเตรียมแปลงคล้ายกับเพาะกล้านาดำ ลูบเทือกให้ดินสม่ำเสมอ นำถาดเพาะกล้าวางเป็นแถวคู่เอาหัวชนกัน วางเป็นแถวตอนความยาวแล้วแต่แปลงกล้า แต่ละคู่แถวห่างกันประมาณ 50 ซม.เพื่อให้สะดวกในการปฏิบัติงาน โดยนำดิน เลนระหว่างร่องทางเดินใส่บานถาดให้เต็ม ปรับให้เสมอปากหลุมถาด แต่อย่าให้ดินล้นปากหลุมเพาะ เพราะจะทำให้รากข้าวพันกันเวลาหว่านต้นกล้า จากนั้นหว่านเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ (โดยแช่ 1 คืน หุ้ม 1 คืน หรือข้าวแห้ง) ด้วยอัตราประมาณ 3-4 กก./50-60 ถาด (ต่อไร่) ใช้แผ่นไม้คล้ายไม้บรรทัดกดหรือลูบเมล็ดพันธุ์ให้จมเลน โดยรักษาความชื้นตลอดไป หากมีฝนตกต้องหาวัสดุมาคลุมเพื่อกันเมล็ดข้าวกระเด็นออกจากถาดเพาะ พอกล้าอายุ 12-16 วัน นำไปโยนได้ทันที หรือความยาวต้นกล้าประมาณ 3-5 นิ้ว ใช้พื้นที่เพาะกล้าประมาณ 12-15 ตารางเมตร 50-60 ถาด โดยได้ 1 ไร่ ก่อนนำไปโยนควรหยุดให้น้ำต้นกล้า 1 วัน
 
ภาพการเตรียมแปลงนา
โดย  นางสาวสุดารัตน์    แก้วบัวดี

        2.ขั้นตอนการเตรียมแปลง  ก่อน ทำนาให้พักแปลงนาให้แห้งอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้ข้าววัชพืชพ้นระยะพักตัว หรือให้เมล็ดข้าววัชพืชที่ร่วงในนาก่อนนี่พร้อมที่จะงอกให้มากที่สุด   ให้ขังน้ำในแปลง 1 คืน และปล่อยให้น้ำแห้งเองเพื่อล่อข้าววัชพืชให้งอกขึ้นมาเต็มที่ซึ่งไม่ควรพ่น สารเคมีกำจัด แต่ให้ไถกลบทุบเป็นปุ๋ยไปเลย... ควรล่อวัชพืชอย่างน้อย 1 ครั้งขึ้นไป   ต่อจากนั้น ให้ไถเตรียมดินเหมือนนาดำ หรือนาหว่านน้ำตมทั่วไป แต่ปรับเทือกให้สม่ำเสมอมากที่สุด พอเช้าวันต่อมาให้โยนกล้าได้กรณีที่เป็นดินเหนียว แต่ถ้าเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินทราย หลังปรับเทือกให้โยนต้นกล้าทันทีทันใด 

ภาพการโยนกล้า
โดย   นางสาวสุดารัตน์   แก้วบัวดี

        3.ขั้นตอนการโยนต้นกล้า ขณะ ที่โยนต้นกล้าในแปลงควรมีน้ำขลุกขลิกเล็กน้อย วิธีโยน ให้เดินถอยหลังโยนกำมือละ 5-15 หลุม โดยตวัดหงายมือโยนต้นข้าวขึ้นสูงกว่าระดับศีรษะ ต้นกล้าจะกระจายตัวพุ่งลงตั้งตรงหรือเอนเล็กน้อย สำหรับถาดเพาะให้วางบนท่อนแขนครั้งละหลาย ๆ แผ่นแล้วแต่จะรับไหว หากเห็นว่าต้นข้าวห่างเกินไปให้โยนเพิ่มเติมได้ วิธีโยนสามารถนำอุปกรณ์คล้ายเรือลงไปในแปลงนาได้ เพื่อให้สามารถใส่ถาดเพาะครั้งละมาก ๆ และสะดวก ในการโยน เกษตรกร 1 คน โยนต้นกล้าได้ 3-5 ไร่/วัน หลังจากหว่าน 1-2 วัน ให้เติมน้ำทันทีและเพิ่มระดับน้ำขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง 5-10 เซนติเมตร ซึ่งมีประสิทธิภาพควบคุมข้าววัชพืชและวัชพืชได้ดีมาก ให้รักษาระดับน้ำจนถึงข้าวโตคลุมพื้นที่นาหรือจนถึงก่อนเกี่ยว 15-20 วัน

ภาพรวงข้าว
โดย   นางสาวสุดารัตน์   แก้วบัวดี

 

        4.ขั้นตอนการปฏิบัติดูแลรักษา ควรใส่ปุ๋ยรองพื้นก่อนโยนต้นกล้า 1 วัน ขณะปรับเทือกและการปฏิบัติดูแลรักษาเช่นเดียวกันกับการทำนาวิธีอื่น ๆ ทุกประการ
ตกลง