การชี้แจงรายละเอียดการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานสารเคมีตกค้างและสารปรุงแต่งตามกฎหมายสุขอนามัยอาหารญี่ปุ่น ครั้งที่ 236 (9 ต.ค. 63)
12 ต.ค. 2563
99
306

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่น (MHLW) จัดส่งเอกสารการส่งเสริมการอำนวยความสะดวกอาหารนำเข้า ครั้งที่ 236 (The 236th Materials for Promotion of Food Import Facilitation) เพื่อชี้แจงรายละเอียดการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานสารเคมีตกค้างและสารปรุงแต่งตามกฎหมายสุขอนามัยอาหาร (Food Sanitation Act) แทนการจัดการประชุมชี้แจง เนื่องจากสถานการณ์การะบาดของ COVID-19 โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่

 

1. การกำหนดใหม่หรือปรับปรุงค่า MRLs สำหรับสารเคมีทางการเกษตร

    1.1 สารกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ Chlorpyrifos, Diethofencarb, Myclobutanil และ Pymetrozine

    1.2 สารกำจัดศัตรูพืชและยาสำหรับสัตว์ ได้แก่ Deltamethrin และ Tralomethrin


รายละเอียดตามเอกสารแนบ

ทั้งนี้ MHLW มีกำหนดจะปรับแก้มาตรฐานและข้อกำหนดให้เป็นไปตามรายละเอียดข้างต้นตามเอกสาร จากนั้นจะดำเนินการแจ้งเวียน SPS ต่อไป กรณีมีความคิดเห็นสามารถส่งเอกสารภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาอังกฤษไปยัง MHLW ภายในวันที่ 23 ตุลาคม 2563 หากเลยกำหนดวันดังกล่าวสามารถยื่นเรื่องผ่านช่องทางตามข้อกำหนด WTO/SPS 

อนึ่ง ตามกฎหมายสุขอนามัยอาหาร (Food Sanitation Act) มาตราที่ 13 วรรค 1 (*1) ได้กำหนดให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่น (MHLW) สามารถกำหนดมาตรฐานสารเคมีทางการเกษตรที่ตกค้างในอาหาร สารเจือปนในอาหารสัตว์ และยาสำหรับสัตว์ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าว นอกจากนี้ MHLW เริ่มใช้ระบบ Positive List เกี่ยวกับสารเคมีทางการเกษตร ฯลฯ (*2) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 และกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดที่จำหน่ายในญี่ปุ่นต้องเป็นไปตามข้อกำหนดฯ 

หมายเหตุ: ร่างมาตรฐานอาจได้รับการปรับปรุงแก้ไขก่อนการแจ้งเวียน SPS หรือก่อนออกประกาศบังคับใช้ตามกฎหมายญี่ปุ่น จึงควรตรวจสอบข้อมูลที่เป็นปัจจุบันก่อนการอ้างอิง หรือสืบค้นค่า MRLs ได้จากฐานข้อมูล Maximum Residue Limits (MRLs) of Agricultural Chemicals in Food ทาง https://db.ffcr.or.jp/front/

 *1 กฎหมายสุขอนามัยอาหาร (Food Sanitation Act)

     "มาตรา 13 วรรค 1" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการสังคม สามารถกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับวิธีการผลิต การแปรรูป การใช้ การปรุง หรือการเก็บรักษา ผลิตภัณฑ์อาหารหรือสารปรุงแต่ง สำหรับจำหน่าย หรือกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับส่วนผสมของผลิตภัณฑ์อาหารหรือสารปรุงแต่ง สำหรับจำหน่าย โดยรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการยาและสุขอนามัยอาหาร (Pharmaceutical Affairs and Food Sanitation Council)

     "มาตรา 13 วรรค 2" เมื่อมีการกำหนดมาตรฐานตามมาตรา 13 วรรค 1 ห้ามให้มีการผลิต แปรรูป ใช้ ปรุง หรือเก็บรักษา ผลิตภัณฑ์อาหารหรือสารปรุงแต่ง โดยวิธีที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าว หรือห้ามให้มีการจำหน่าย หรือนำเข้า ผลิตภัณฑ์อาหารหรือสารปรุงแต่ง โดยวิธีที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าว หรือห้ามให้มีการผลิต นำเข้า แปรรูป ใช้ ปรุง เก็บรักษา หรือจำหน่าย ผลิตภัณฑ์อาหารหรือสารปรุงแต่งที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าว

*2 ระบบ Positive List โดยหลักการแล้ว ห้ามให้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารเคมีทางการเกษตรตกค้างเกินกว่าปริมาณ 0.01 ppm ยกเว้นกรณีที่มีการกำหนดมาตรฐานสารตกค้าง

ตกลง