เพลี้ยกระโดดท้องขาว ศัตรูข้าวโพดตัวใหม่ที่น่าจับตามอง
28 ก.พ. 2564
731
0
เพลี้ยกระโดดท้องขาว
เพลี้ยกระโดดท้องขาว ศัตรูข้าวโพดตัวใหม่ที่น่าจับตามอง
เพลี้ยกระโดดท้องขาว ศัตรูข้าวโพดตัวใหม่ที่น่าจับตามอง . ระยะนี้ในโซเชียลมีเดียได้มีการแชร์ภาพของเพลี้ยกระโดดชนิดหนึ่งที่ลงทำลายต้นข้าวโพด ซึ่งหลาย ๆ คนสงสัยว่าใช่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ลงทำลายข้าวรึเปล่านะ ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างจากจังหวัดพะเยาส่งมาให้นักอนุกรมวิธานแมลงจำแนกและจากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าเพลี้ยกระโดดชนิดนี้เคยมีรายงานการระบาดในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เรามาทำความรู้จักเพลี้ยกระโดดชนิดนี้กันดีกว่าค่ะ . #เพลี้ยกระโดดท้องขาว หรือ #เพลี้ยกระโดดข้าวโพด (White-Bellied Planthopper, Corn Planthopper) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stenocranus pacificus Kirkaldy จัดอยู่ในอันดับ Hemiptera วงศ์ Delphacidae . #รูปร่างลักษณะ ตัวเต็มวัย (adult) มีสีน้ำตาลอ่อน ปีกค่อนข้างใส บริเวณด้านสันหลังมีแถบสีน้ำตาลอ่อน 2 แถบ ทอดยาวคู่กันตั้งแต่บริเวณสันกระโหลก (vertex) ไปจนถึงปลายปีก เพศเมียมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าเพศผู้ โดยเพศเมียมีความยาวลำตัวประมาณ 4.5 - 5.0 มม. เพศผู้ลำตัวยาว 4.0 - 4.2 มม. บริเวณส่วนท้องด้านล่างของเพศผู้จะมีสีน้ำตาลส้ม ส่วนของเพศเมียจะมีลักษณะของไขหรือขี้ผึ้งสีขาวเคลือบอยู่ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "เพลี้ยกระโดดท้องขาว" หรือ White-Bellied Planthopper นั่นเองค่ะ . #วงจรชีวิต จากการศึกษาในประเทศอินโดนีเซียพบว่าเพลี้ยกระโดดท้องขาว มีวงจรชีวิตอยู่ที่ประมาณ 38 -47 วัน ระยะไข่ใช้เวลาประมาณ 9 - 11 วัน โดยเพศเมียใช้อวัยวะวางไข่ (ovipositor) แทงทะลุเนื้อเยื่อพืชเพื่อวางไข่บริเวณเส้นกลางใบและกาบใบ จากนั้นเพศเมียจะทำการขับสารที่มีลักษณะคล้ายไขขี้ผึ้งสีขาวปกคลุมไข่เพื่อป้องกันอันตราย ซึ่งสารสีขาวนี้จะพบในส่วนท้องของเพศเมียเท่านั้น โดยไข่ที่วางในแต่ละจุดมีจำนวนประมาณ 1 - 24 ฟอง โดยเพศเมีย 1ตัว สามารถวางไข่ได้เฉลี่ย 181 - 214 ฟอง ระยะตัวอ่อน (nymph) มี 5 วัย แต่ละวัยใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมียมีอายุประมาณ 13 - 17 วัน ซึ่งยาวนานกว่าเพศผู้ที่มีอายุประมาณ 8 - 12 วัน (Simbolon et al., 2020) ตัวอ่อนวัยแรกที่เพิ่งฟักออกจากไข่จะมีสีลำตัวค่อนข้างขาว และเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองปนเขียวในวัยที่ 2 จากนั้นจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในระยะตัวอ่อนวัยที่ 3 - 4 และสีน้ำตาลอ่อนอมส้มในระยะตัวเต็มวัย (Dumayo et al., 2007) . #ลักษณะการทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดดชนิดนี้จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนและกาบใบ ทำให้ต้นข้าวโพดชะงักการเจริญเติบโต หากระบาดรุนแรงทำให้เกิดอาการใบไหม้ (hopperburn) นอกจากนี้ยังขับถ่ายมูลหวาน (honey dew) ลงบนต้นพืชเป็นสาเหตุทำให้เกิดราดำ (sooty mold) ขึ้นปกคลุมส่วนต่างๆทำให้พืชสังเคราะห์แสงได้ลดน้อยลง อีกทั้งยังมีรายงานว่าเพลี้ยกระโดดชนิดนี้ทำให้เกิดปมตามเส้นใบและใต้ผิวใบอีกด้วย (Nelly et al., 2017) นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าการระบาดของเพลี้ยกระโดดท้องขาวทำให้ผลผลิตข้าวโพดลดลง ซึ่งจากข้อมูลในประเทศอินโดนีเซียพบว่าในฤดูแล้งปี 2017 ที่พบเพลี้ยกระโดดท้องขาวระบาดรุนแรงทำให้ผลผลิตข้าวโพดลดลงถึง 52.2% โดยผลผลิตที่ได้จากข้าวโพดที่ถูกเพลี้ยกระโดดท้องขาวเข้าทำลายนั้นจะมีฝักที่ลีบเล็ก เมล็ดมีน้ำหนักน้อย เปราะและแตกหักได้ง่ายเมื่อนำไปเข้าเครื่องกะเทาะเมล็ด (Swibawa et al., 2018) . #พืชอาหาร : ข้าวโพด (Susilo et al. and Nelly et al., 2017) ข้าวฟ่าง หญ้าโขย่ง หญ้านกสีชมพู หญ้าตีนกา (Dumayo, 2007) สำหรับในประเทศไทยเคยมีรายงานว่าพบเพลี้ยกระโดดชนิดนี้ในนาข้าวแต่ไม่ใช่ศัตรูที่สำคัญ (วารี, 2543) . #เขตการแพร่กระจาย : ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย . #การป้องกันกำจัด . เบื้องต้นควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกข้าวโพดอย่างสม่ำเสมอม่ำเสมอหากพบปุยสีขาวคล้ายขี้ผึ้งเกาะอยู่บริเวณเส้นกลางใบหรือกาบใบแสดงว่าเริ่มมีการเข้าทำลายของเพลี้ยกระโดดท้องขาว . #หากพบการระบาดรุนแรง ให้เลือกใช้สารกำจัดแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้ . (1) สารคาร์บาริล 85%WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม1) (2) สารไทอะมีโทแซม 25% WP อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม4) (3) สารไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม4) (4) สารอิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม4) (5) สารไพมีโทซีน 50% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม9)*** (6)สารบูโพรเฟซิน 25%WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม16) (7) สารฟลอนิคามิค 50% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม29)*** . ***#หมายเหตุ สารไพมีโทซีนและสารฟลอนิคามิดเป็นสารที่คาดว่าน่าจะมีประสิทธิภาพดีที่สุดแต่ก็มีราคาค่อนข้างสูงเช่นกัน ดังนั้นจึงควรคำนึงถึงต้นทุนและความคุ้มค่าในการใช้สารด้วย . สำหรับสารอิมิดาโคลพริด, ไทอะมีโทแซม และไดโนทีฟูแรน เป็นสารกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ จัดอยู่ในกลุ่ม 4 เป็นสารกลุ่มที่มีพิษต่อผึ้งและแมลงผสมเกสรค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการพ่น โดยอาจเลือกช่วงเวลาในการพ่นสารโดยพ่นช่วงเช้าตรู่หรือช่วงเย็นเพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่ผึ้งและแมลงผสมเกสรออกหาอาหาร จะช่วยลดความเสี่ยงและอันตรายต่อผึ้งและแมลงผสมเกสรได้
ตกลง