ประวัติความเป็นมาสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์
สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ เดิมชื่อ โครงการไร่นาตัวอย่างห้วยสีทนจังหวัดกาฬสินธุ์ จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ สังกัด สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นโครงการซึ่งรัฐบาลไทยโดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจาก Food and Agriculture Organization (F.A.O.) และ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNPD ) เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น ๑๕ ปี รับผิดชอบงานค้นคว้า วิจัย ทดลอง การปลูกพืชด้วยระบบชลประทาน หลายพืช เช่นข้าว พืชตระกูลถั่ว พืชเส้นใย โดยทดลองค้นคว้าในแปลงทดลอง และนำผลการทดลองการปลูกพืช โดยระบบชลประทานไปทดสอบสาธิต และส่งเสริมให้เกษตรกรในเขตชลประทานหลายจังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวกาฬสินธุ์ โครงการลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา โครงการน้ำพอง-หนองหวาย จ.ขอนแก่น โครงการโดมน้อย จ.อุบลราชธานี โครงการห้วยหลวง จ.อุดรธานี และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขนาดกลาง อีกหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยปฏิบัติงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่มาปฏิบัติงานที่โครงการฯ หลังสิ้นสุดความช่วยเหลือจาก F.A.O. / U.N.D.P.) ได้เปลี่ยนชื่อจากโครงการไร่นาตัวอย่างห้วยสีทนจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นโครงการไร่นาสาธิตห้วยสีทนจังหวัดกาฬสินธุ์
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ โครงการไร่นาสาธิตห้วยสีทนจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ ตามพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๓๘ มีอำนาจหน้าที่
๑. จัดทำและประสานแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติงานด้านการเกษตรและสหกรณ์ ภายในจังหวัด
๒. กำกับ ดูแล และประสานการปฏิบัติงานโครงการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ที่มีหลายส่วนราชการปฏิบัติร่วมกัน
๓. ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ภายในจังหวัด
๔. เป็นศูนย์ข้อมูลด้านการเกษตรและสหกรณ์ ภายในจังหวัด
๕. ปฏิบัติงานร่วมกับ หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง หรือได้รับมอบหมาย
ตามกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2552 สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
๑) ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด
และกลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาการเกษตรรายสินค้า แผนบูรณาการการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์
ของจังหวัด และการจัดทำงบประมาณด้านการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด
๒) ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแผนปฏิบัติการโครงการพัฒนาด้านการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด กำกับการบูรณาการ และติดตามการใช้งบประมาณของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงในจังหวัด
๓) กำกับ ดูแล ควบคุม ประสาน ดำเนินงาน ติดตาม และประเมินผลสัมฤทธิ์ของการ
ปฏิบัติงานตามแผนงานและโครงการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัด
๔) ดำเนินงานโครงการพิเศษ โครงการในพระราชดำริ งานช่วยเหลือเกษตรกร งานภัยพิบัติ การเตือนการระบาดและเฝ้าระวัง และเตือนภัยสินค้าเกษตรในจังหวัด
๕) กำกับดูแล ควบคุม และพัฒนาข้าราชการและลูกจ้างในสังกัดกระทรวงในจังหวัด
๖) ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่การพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดให้เป็น
ศูนย์ข้อมูลและศูนย์แม่ข่ายข้อมูลด้านการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด
๗) กำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย
๘) ดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
๙) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย