งานสถาปนากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครบรอบ 120 ปี ปี 2555
16 ก.พ. 2560
1,826
0
งานสถาปนากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครบรอบ 120 ปี ปี 2555
งานสถาปนากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครบรอบ 120 ปี ปี 2555

งานสถาปนากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครบรอบ 120 ปี ปี 2555

     การเกษตรในประเทศไทยได้มีบันทึกเป็นหลักฐานไว้ในศิลาจารึกในสมัยสุโขทัย (เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 1800) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพ่อขุนรามคำแหง ทรงมีรัฐประศาสตร์โนบายส่งเสริมการเกษตรหลายประการ ที่สำคัญคือ การให้ประชาชนมีอิสระในการประกอบอาชีพตามความถนัด และที่ดินที่มีการปลูกสร้างทำประโยชน์ก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ปลูก สร้าง และให้เป็นมรดกตกทอดไปถึงยังลูกหลานในสมัยนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำสะอาดสำหรับบริโภคตลอดทั้งปี และเพียงพอสำหรับใช้ในการเกษตร มีการสันนิษฐานว่าพ่อขุนรามคำแหงทรงจัดการชลประทานช่วยเหลือการเพาะปลูก เช่น การขุดเหมืองฝายฝังท่อไขน้ำจากลำธารบนภูเขา มาสู่ตัวเมืองสุโขทัย และทรงสนับสนุนให้มีการปลูกป่าทำสวนโดยทั่วไป เช่น ทรงปลูกป่าตาลขึ้น และใช้ป่าตาลนั้นเป็นสถานที่ให้พระสงฆ์แสดงธรรมในวันธรรมสวนะ และเป็นที่เสด็จออกว่าราชการในวันปกติ อันเป็นพระบรมราโชบายที่จะอบรมพสกนิกรให้มีนิสัยรักป่า รักสวน และรักการปลูกสร้างไปด้วยในตัว

ย้อนรอยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
     - พ.ศ. 1893 กรมนา หน่วย งานที่รับผิดชอบด้านกิจกรรมทางการเกษตร เริ่มมีปรากฏชัดในสมัยกรุงศรีอยุธยา (เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 1893) นั่นคือ กรมนา ซึ่งเป็นกรมหนึ่งในการปกครองแบบจตุสดมภ์

     - พ.ศ. 2435 กระทรวงเกษตรพนิชการ ในต้นรัชกาลที่ 5 เป็นยุคของการเริ่มปรับปรุงส่วนราชการ และจัดตั้งกระทรวงต่างๆ ขึ้น เพื่อให้การดำเนินการไปสู่ความเจริญก้าวหน้า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับการปรับปรุงเป็นครั้งแรกในยุคนี้เช่นกัน โดยปรับปรุงจากกระทรวงเกษตราธิการ (กรมนา)

     - พ.ศ. 2411 กระทรวงเกษตราธิการ ใน พ.ศ. 2441 มีการประกาศตั้งกรมเกษตรากรขึ้นเป็นกระทรวงเกษตราธิการ เช่นเดิมและย้ายกรมเกษตรากร กรมแผนที่ และกรมแร่กลับมาอยู่ในสังกัดตามเดิมด้วย

     – พ.ศ. 2475 กระทรวงเกษตรพานิชยการ เมื่อ พ.ศ. 2475 กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคม ได้รวมเข้าเป็นกระทรวงเกษตรพาณิชยการ โดยย้ายกรมทะเบียนที่ดิน กรมรังวัดที่ดิน กรมป่าไม้ และกรมราชโลหกิจ จากกระทรวงเกษตราธิการไปขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย

     - พ.ศ. 2476 กระทรวงเศรษฐการ ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงเกษตรและกรม พ.ศ. 2476 เปลี่ยนนามกระทรวงเกษตรพาณิชยการเป็นกระทรวงเศรษฐการ

     – พ.ศ. 2478 กระทรวงเกษตราธิการ จัดตั้งขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2478 ซึ่งต่อมามีการแยกกรมเกษตร และการประมงออกเป็นกรมเกษตร และกรมประมง แยกกรมที่ดินและราชโลหกิจเป็นกรมที่ดิน

     – พ.ศ. 2495 กระทรวงเกษตร สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนนามกระทรวงเกษตราธิการเป็นกระทรวงเกษตร พร้อมทั้งเปลี่ยนนามกรมเกษตรเป็นกรมกสิกรรม และกรมปศุสัตว์ และสัตว์พาหนะเป็นกรมการปศุสัตว์ ตลอดจนก่อตั้งกรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นอีกกรมหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้โอนไปอยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี - พ.ศ. 2505 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวัน ที่ 1 ตุลาคม 2505 มีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 216 ให้ยุบกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติโดยโอนกรมส่งเสริม สหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน มาอยู่ในสังกัดกระทรวงเกษตร และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น " กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ "

     ๑ เมษายน ๒๕๕๕ ถือเป็นวันสำคัญยิ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากปีนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีอายุครบ ๑๒๐ ปี เป็น ๑๒๐ ปีที่บ่งบอกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่มิใช่เฉพาะคนไทย แต่ยังก้าวสู่การเป็นครัวของโลกด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีบทบาทอย่างยิ่งต่องานด้านเกษตรกรรมของประเทศ มีภาระหน้าที่รับผิดชอบต่อความอยู่รอดของเกษตรกร ขณะเดียวกันก็มีภารกิจที่ต้องรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของคนทั้งโลกในด้านอาหารที่หล่อเลี้ยงประชากร รวมถึงเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศด้วย สำหรับในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาภัยวิกฤตทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม สร้างความเสียหายให้แก่ภาคการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ในการจัดงานวันครบรอบวันสถาปนากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ๑๒๐ ปี ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๕ นี้ จึงได้กำหนดแนวทางการจัดงานในลักษณะของการสร้างองค์ความรู้เพื่อให้เป็นก้าวใหม่ที่จะสร้างเสริมอาชีพต่างๆ ให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นและประสบความสำเร็จภายหลังการเผชิญภัยวิกฤตมาแล้ว นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในวันแถลงข่าวว่า "จากภัยวิกฤตที่ผ่านมา ประชาชนมีความต้องการที่จะเรียนรู้ทางเลือกใหม่สำหรับการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะเกษตรกรเองก็ต้องการองค์ความรู้ใหม่ๆ เทคโนโลยีที่ใหม่ ที่จะช่วยพัฒนาบริหารจัดการผลิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สร้างรายได้อย่างสมเหตุสมผล ดังนั้น เพื่อเป็นก้าวใหม่สำหรับเกษตรกรและประชาชนทั่วไป หลังการเผชิญภัยวิกฤตมาแล้ว การจัดงานในวาระกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอายุครบ ๑๒๐ ปี จึงนำเสนอผลงานของหน่วยงานในสังกัดภายใต้แนวคิด "ทางรอดเกษตรไทย ก้าวใหม่หลังภัยวิกฤต”

     "ทางรอดเกษตรไทย ก้าวใหม่หลังภัยวิกฤต” จะได้นำเสนอองค์ความรู้ผ่านนิทรรศการและการสาธิต การอบรมอาชีพของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยแบ่งการนำเสนอเป็น ๕ ส่วน ประกอบด้วย

ส่วนที่ ๑ นำเสนอพระราชกรณียกิจทรงงานด้านการพัฒนาการเกษตรในพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็น "พระบิดาแห่งการเกษตรไทย” ผ่านสื่อนิทรรศการในรูปแบบร้อยกรองแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระวิริยะอุตสาหะพัฒนาเกษตรกรรมไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของโลกที่ถูกนำองค์ความรู้ไปเป็นแบบอย่างในนานาประเทศ

ส่วนที่ ๒ นำเสนอองค์ความรู้ด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานงานด้านการเกษตร ภายใต้แนวคิด "การเกษตร สร้างสรรค์ยั่งยืน คืนสมดุลธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า พัฒนาคุณภาพชีวิต” หรือ Lively –Techno – Model – Series โดยนำเสนอรูปแบบการจำลองพื้นที่ของการทำเกษตรสมดุลว่าเป็นอย่างไร กลไกของความสมดุลของธรรมชาติเป็นอย่างไร ผ่านกระบวนการแสดงถึงการเกษตรต้นน้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำ ทรัพยากรดินและ การใช้ที่ดินบนพื้นที่ราบสูง ปัญหาการจัดการดิน การชะล้างพังทลายของหน้าดิน การใช้ที่ดินวิถีไทย ระบบส่งน้ำชลประทานภาคพื้นดิน /ฝนหลวงภาคพื้นฟ้า น้ำแล้ง น้ำท่วม การปฏิรูปที่ดินสร้างสมดุลธรรมชาติ สมดุลชีวิต และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ชุมชนวิถีน้ำ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อุตสาหกรรม การระบายน้ำ ความสำคัญของพื้นที่แก้มลิง สถานีระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และปัญหาพื้นฐานของมนุษย์และคุณภาพชีวิต ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ผู้เข้าชมได้เข้าใจถึงธรรมชาติ และการสร้างสมดุลชีวิต เพื่อให้เกิดการพัฒนาชีวิตที่ดีต่อไป

ส่วนที่ ๓ องค์ความรู้ด้านพืช นำเสนอการฟื้นฟูผู้ประสบภัย โดยมีแนวทางการส่งเสริมพืช ลดความเสี่ยง” ที่ผู้ชมจะได้รับความรู้ด้านพืชอย่างครบวงจร รวมถึงการสอนเทคโนโลยีการปลูกพืชด้านต่างๆ การสอนอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ รวมถึงการแจกพันธุ์ไม้กว่าแสนต้น

ส่วนที่ ๔ องค์ความรู้นวัตกรรมงานวิจัยด้านการเกษตร "เกษตรฟื้นฟู สู้ภัยธรรมชาติ” เป็นการจัดแสดงผลงานด้านนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ สามารถนำไปเป็นแม่แบบหรือพัฒนาเพื่อใช้งานจริงของหน่วยงานต่างๆ เช่น พันธุ์ข้าวใหม่ที่จะมีการส่งเสริมการปลูก นวัตกรรมการประมง การปศุสัตว์ เป็นต้น

ส่วนที่ ๕ นำเสนอถึงผลงานความก้าวหน้าเทคโนโลยีด้านการประมง การสาธิตการแปรรูปสัตว์น้ำ ที่สำคัญคือ การแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 84 สายพันธุ์ ทั้ง สัตว์น้ำจืด สัตว์น้ำชายฝั่ง สัตว์น้ำทะเล สัตว์น้ำสวยงามสายพันธุ์ไทยและต่างประเทศ เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ตลาดต้องการ องค์การสะพานปลานำผลิตภัณฑ์การแปรรูปมาจำหน่าย เรียนรู้วิธีการเพาะเลี้ยงอนุบาลปลาทะเลสวยงาม กุ้งสวยงาม เรียนรู้เรื่องปลาปักเป้าบริโภคได้หรือไม่

ส่วนที่ ๖ เป็นองค์ความรู้ด้านปศุสัตว์ ประกอบด้วยกิจกรรมความรู้การดูแลสุขภาพโคนม การตรวจสอบคุณภาพน้ำนมเพื่อเพิ่มมูลค่าน้ำนม แนวทางการผลิตนมอินทรีย์ ความช่วยเหลือด้านปศุสัตว์ของกรมปศุสัตว์

     สำหรับในการนำเสนอองค์ความรู้ของหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "กิจกรรมของหน่วยงานในปีนี้ ถือเป็นรูปแบบใหม่ของการนำเสนอผลงานของกระทรวงเกษตรฯ โดยผู้เข้าชมงานจะได้รับองค์ความรู้ในเรื่องที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่จะนำไปเป็นแบบอย่างและประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดการ บูรณาการและพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการประชุมสัมมนาทางวิชาการในประเด็นร้อน คือ "ทางรอดเกษตรไทย สู้วิกฤตภัย ก้าวไกล สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช จะมาให้ความรู้ในการเตรียมพร้อมสำหรับการสู้ภัยวิกฤต ก่อนก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเชียน” นอกจากนี้ในงาน ๑๒๐ ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ "ทางรอดเกษตรไทย ก้าวใหม่หลังภัยวิกฤต” ยังมีการจำหน่ายสินค้าระดับ OTOP ราคาถูกจากสมาชิกสหกรณ์ และภาคเอกชน รวมทั้งกิจกรรมภาคบันเทิงที่จะได้พบกับนักร้อง นักแสดงทั้งตัวจริง และ Copy Show การจัดงานครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑-๕ เมษายน ๒๕๕๕ ณ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๙.๐๐ น. ขอเชิญชวนทุกท่านไปรับทั้งความรู้ ความบันเทิง และจับจ่ายสินค้าคุณภาพราคาถูก

ตกลง