รายงานภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2566 และแนวโน้มปี 2567
24 ม.ค. 2567
164
129

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2566 ขยายตัว ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสาขาประมงขยายตัว ร้อยละ 4.5 และสาขาปศุสัตว์ขยายตัว ร้อยละ 1.4 ในขณะที่สาขาบริการทางการเกษตรหดตัว ร้อยละ 2.0 สาขาพืชหดตัว ร้อยละ 0.1 และสาขาป่าไม้หดตัว ร้อยละ 0.1 โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบในด้านบวกต่อภาคเกษตร ได้แก่ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญและแหล่งน้ำธรรมชาติที่เพียงพอต่อการเลี้ยงสัตว์น้ำ มีการปรับระบบการเลี้ยงเข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์ม รวมทั้งการเฝ้าระวังควบคุมโรคระบาดสัตว์อย่างดี ประกอบกับการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรที่ต่อเนื่องของภาครัฐ ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ปี 2566 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสาขาประมงและปศุสัตว์ ที่มีปริมาณการผลิตจับสัตว์น้ำจืดจากธรรมชาติ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ไข่ไก่ สุกร โคเนื้อ กระบือ และไก่พื้นเมือง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.3 และดัชนีรายได้ภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.8

แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2567 คาดว่า จะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-1.4) – (-0.4) เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสำคัญที่คาดว่า จะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร ได้แก่ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ และภัยธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย และส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร ราคาปัจจัยการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยสาขาพืช คาดว่า จะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-1.8) – (-0.8) และสาขาบริการทางการเกษตร คาดว่า จะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-3.7) – (-2.7) ส่วนสาขาปศุสัตว์ คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.1 – 1.1 สาขาประมง คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 2.0 และสาขาป่าไม้ คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.3) – 0.7

รายละเอียดตามไฟล์เอกสาร 

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 

ตกลง