สถานการณ์ระบาดในปัจจุบัน มีพื้นที่ระบาดพื้นที่ระบาด 37 จังหวัด (นครราชสีมา กาญจนบุรี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี ชลบุรี อุทัยธานีฉะเชิงเทรา กำแพงเพชร สระแก้ว ลพบุรี ระยอง ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครสวรรค์ มหาสารคาม ยโสธร มุกดาหาร สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ชัยนาท อุดรธานี เพชรบูรณ์ ราชบุรี เพชรบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ศรีสะเกษ สุโขทัย อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู พิษณุโลก สกลนคร นครพนม
จันทบุรี และตาก) จำนวน 806,947ไร่ การระบาดลดลง23,357ไร่ (ข้อมูล จากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันที่ 2 พ.ค. 2568 )
สำหรับโรคใบด่างมันสำปะหลังที่ระบาดคือ Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) เป็นโรคที่มีความสำคัญทำให้ผลผลิตเสียหาย 80-100 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ และสามารถเข้าทำลายมันสำปะหลังได้ทุกระยะการเจริญเติบโต โดยเชื้อไวรัสสาเหตุโรคใบด่างสามารถติดมากับท่อนพันธุ์และมีแมลงหวี่ขาวยาสูบ เป็นแมลงพาหะจึงทำให้มีความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสนี้จะแพร่ระบาดทำความเสียหายให้กับผลผลิตของเกษตรกรและอาจส่งผลถึงเศรษฐกิจของประเทศ
ลักษณะอาการของโรค มันสำปะหลังมีลักษณะอาการใบด่างเหลือง ต้นแคระแกร็น ใบเสียรูปทรง ลดรูป ยอดที่แตกใหม่แสดงอาการด่างเหลือง หากใช้ท่อนพันธุ์ที่ติดเชื้อไวรัสมาปลูกจะทำให้เกิดอาการใบด่างเหลืองทั้งต้น ถ้ามันสำปะหลังได้รับการถ่ายทอดโรคจากแมลงหวี่ขาวยาสูบที่มีเชื้อไวรัส จะแสดงอาการใบด่างเหลืองชัดเจนที่ส่วนยอด ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัส และพันธุ์พืช
แนวทางในการป้องกันกำจัดโรคใบด่างให้เลือกท่อนพันธุ์ที่สะอาดและทนทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง ได้แก่ พันธุ์ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60 และไม่ควรปลูกพันธุ์อ่อนแอต่อโรคใบด่างมันสำปะหลัง ได้แก่ระยอง 11 และ CMR 43-08-89 เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกมันสำปะหลังทุก 2 สัปดาห์ หากพบต้นที่แสดงอาการต้องสงสัยให้ดำเนินการถอนทำลายต้นที่ต้องสงสัยและต้นข้างเคียงในพื้นที่ 4x4 เมตร (ไม่เกินจำนวน 16 ต้น) โดยวิธีฝังกลบในหลุมลึกไม่น้อยกว่า 2-3 เมตรทำการกลบด้วยดินหนาไม่น้อยกว่า 0.5 เมตร และพ่นสารฆ่าแมลงเพื่อกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ ด้วยสารเคมี อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% SL อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ในแปลงที่พบอาการต้องสงสัยและแปลงใกล้เคียง เพื่อป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบซึ่งเป็นแมลงพาหะนำโรคที่สำคัญ”
*** เกษตรกรควรเฝ้าระวังการระบาดของโรคด้วยการสำรวจพื้นที่ปลูกอย่างสม่ำเสมอ