ไฮโดรโปนิกส์ ! (Hydroponics)
23 พ.ค. 2565
492
43
ไฮโดรโปนิกส์ (hydroponics) หรือ ผักไฮโดรโปนิกส์
ไฮโดรโปนิกส์ ! (Hydroponics)
ไฮโดรโปนิกส์ ! (Hydroponics)

ผักไฮโดรโปนิกส์

ไฮโดรโปนิกส์ (hydroponics) หรือ ผักไฮโดรโปนิกส์ คือ การปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน หรือเป็นการปลูกพืชผักในน้ำที่มีธาตุอาหารพืชละลายอยู่ หรือเป็นการปลูกพืชในสารละลายธาตุอาหารพืช และอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ผักไร้ดิน" ก็ได้ ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการใหม่ในการปลูกพืชที่กำลังได้รับความนิยม โดยเฉพาะการปลูกพืชผักที่เราใช้เป็นอาหาร เนื่องจากการปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์จะช่วยประหยัดพื้นที่ในการปลูกและไม่ปนเปื้อนเปื้อนสารเคมีต่าง ๆ ในดิน ทำให้ได้พืชผักที่มีความสะอาดเป็นอาหาร

การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ กับการปลูกผักออแกนิก (การปลูกผักแบบธรรมชาติ ใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติเป็นหลัก) ถ้ามองผิวเผินแล้วจะคิดว่าการปลูกพืชทั้งสองวิธีนี้มีความแตกต่างกันมาก และอาจมองว่าการปลูกผักแบบไร้ไม่เป็นการปลูกผักแบบธรรมชาติ แต่ถ้ามองให้ลึกซึ้งแล้วเราก็จะทราบว่าการปลูกผักทั้งสองวิธีนี้คือการปลูกแบบธรรมชาติเหมือนกัน เนื่องจากปุ๋ยธรรมชาติหรือปุ๋ยอินทรีย์ทั้งหลายเริ่มแรกพืชจะยังนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ เพราะจะต้องถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดินจนกลายเป็นสารอนินทรีย์ก่อนพืชถึงจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ในระบบไฮโดรโปนิกส์เราจะให้สารละลายธาตุอาหารที่เตรียมขึ้นจากปุ๋ยอนินทรีย์บริสุทธิ์แทน รากและขนอ่อนก็จะดูดธาตุอาหารและน้ำได้ไม่ว่าจะจากดินหรือจากระบบไฮโดรโปนิกส์ในลักษณะที่เหมือนกัน สรุปก็คือ การปลูกพืชไร้ดินเป็นการปลูกแบบเป็นธรรมชาติเหมือนกับการปลูกบนดิน เพียงแต่เป็นการปลูกพืชที่ใช้เทคโนโลยีที่มีการจัดการที่ดีกว่า

ไฮโดรโปนิกส์

ประโยชน์ของผักไฮโดรโปนิกส์

  1. ผักไฮโดรโปนิกส์เป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย
  2. มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสูง เนื่องจากการปลูกผักไร้ดินเป็นการนำสารละลายธาตุอาหารมาละลาย โดยใช้ธาตุอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการพืช เช่นเดียวกับการปลูกพืชบนดิน แต่ต่างกันตรงที่ผักที่ปลูกในดินจะต้องอาศัยจุลินทรีย์มาเปลี่ยนเป็นอาหาร ทำให้บางครั้งหากในดินมีธาตุโลหะหนักที่เป็นพิษต่อผู้บริโภค จุลินทรีย์ก็จะเปลี่ยนให้พืชสามารถดูดธาตุที่เป็นพิษเข้าไปได้ ในขณะที่การปลูกพืชไร้ดิน จะสามารถควบคุมแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชได้ ผู้บริโภคจึงได้รับประทานผักสดสะอาดที่มีความปลอดภัยสูง
  3. ข้อดีของการบริโภคผักไฮโดรโปนิกส์ คือ การคงคุณประโยชน์ที่โดดเด่นที่สุดของผักเอาไว้ได้อย่างเต็มที่ เช่น กากใยอาหาร ที่เป็นตัวช่วยในการล้างผนังลำไส้และเป็นตัวช่วยในการขับถ่าย
  4. มีการรับรองว่าพืชผักไร้ดินจะมีปริมาณแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์เท่ากับพืชผักที่ปลูกบนดินหรือสูงกว่าเล็กน้อย แต่พืชผักไร้ดินจะมีกลิ่นที่มาจากน้ำมันหอมระเหยและมีรสชาติน่าชวนชิมมากกว่าพืชผักที่ปลูกบนดิน
  5. ผักไฮโดรโปนิกส์ที่นิยมส่วนใหญ่จะเป็นผักสลัดที่นำมารับประทานสด เช่น ผักกรีนคอส (Green Cos) เป็นผักที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กที่ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง นอกจากจะใช้เป็นส่วนประกอบในสลัดแล้ว ยังนิยมนำไปผัดน้ำมันอีกด้วย, ผักกรีนโอ๊ค (Green Oak) หรือ ผักเรดโอ๊ค (Red Oak) เป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี โฟเลท และธาตุเหล็ก, ผักเรดคอรัล (Red Coral) เป็นผักที่อุดมไปด้วยใยอาหาร โฟเลท สารต้านอนุมูลอิสระ รวมไปถึงเบต้าแคโรทีน, ผักบัตเตอร์เฮด (Butterhead) เป็นผักที่อุดมไปด้วยโฟเลทและสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น

ความปลอดภัยของผักไฮโดรโปนิกส์

ความปลอดภัยในการบริโภคผักไฮโดรโพนิกส์ เป็นสิ่งที่ถูกถามกันมามากคำถามหนึ่ง ด้วยความกังวลที่ว่าผักชนิดนี้ต้องแช่ในสารละลายธาตุอาหารที่เป็นสารเคมีอย่างหนึ่ง เมื่อบริโภคเข้าไปอาจทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดูดกินอาหารทางรากในรูปของแร่ธาตุที่อยู่ในรูปของอิออนหรือประจุเท่านั้น แม้ว่าเราจะปลูกพืชลงในดินแล้วทำการให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ปุ๋ยเหล่านี้ก็ยังไม่เป็นประโยชน์ต่อพืชจนกว่าจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดินจนกระทั้งกลายเป็นแร่ธาตุที่อยู่ในลักษณะของเคมีธาตุอาหารพืช แล้วละลายอยู่ในน้ำในดิน จากนั้นพืชจึงดูดซึมไปใช้งานได้

สรุปแล้วก็คือ ไม่ว่าเราจะปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์หรือปลูกพืชในดิน พืชก็จะต้องดูดใช้อาหารในรูปของประจุของแร่ธาตุ ซึ่งก็เรียกว่าเป็น "เคมี" เช่นกัน โดยพืชจะนำเอาแร่ธาตุต่าง ๆ ไปใช้ในการสร้างสารประกอบอินทรีย์โมเลกุลใหญ่อื่น ๆ ได้แก่ โปรตีน แป้ง ไขมัน หรือวิตามินต่าง ๆ ให้มนุษย์นำมาบริโภคอีกที ดังนั้น ถ้าคุณไม่กังวลว่าจะรับประทานผักที่ปลูกบนดินด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก คุณก็ไม่ควรที่จะกังวลกับการบริโภคผักที่ปลูกในสารละลายหรือผักไฮโดรโปนิกส์เช่นกัน

ส่วนเรื่องการสะสมของไนเตรทที่เป็นอนุมูลของไนโตรเจนนั้น ที่พืชต้องการนำไปใช้มากในช่วงการพัฒนาด้านลำต้น กิ่ง หรือใบ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกรูปแบบใดก็จะต้องพบว่ามีไนเตรทอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้ามีไม่เกิน 2,500-3,000 มิลลิกรัมต่อหนึ่งกิโลกรัมน้ำหนักสดของผัก ก็ถือว่าเป็นผักที่ปลอดภัยครับ และในประเทศไทยเราเองก็มีแสงแดดค่อนข้างจัด พืชจึงมีการสังเคราะห์แสงค่อนข้างสูง ทำให้อัตราการเปลี่ยนแปลงไนเตรทในต้นพืชกลายเป็นกรดอะมิโนกลูตาเมทเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว ส่งผลให้มีปริมาณของไนเตรทลดลง อีกทั้งการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ก็สามารถลดไนเตรทก่อนการเก็บเกี่ยวได้ง่าย โดยการงดให้ธาตุอาหารหรือเลี้ยงพืชในอัตรา EC ต่ำกว่า 1.0 ประมาณ 1-3 วัน ก่อนเก็บเกี่ยวพืชก็จะสามารถช่วยลดปริมาณของไนเตรทได้

คำแนะนำสำหรับบางท่านที่อาจมีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสารตกค้างที่มีอยู่ในผักไฮโดรโปนิกส์ วิธีการรับประทานผักไฮโดรไปนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นผักที่หาซื้อมาจากตลาดหรือปลูกได้เองจากแปลง ก่อนนำมาบริโภคให้นำผักไปแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง ผักจะอิ่มตัว และคายสารที่ตกค้างออกมาทั้งหมด ทำให้สามารถนำมาบริโภคได้อย่างปลอดภัย

ตกลง