ปลวกกับการเกษตร : ประโยชน์ vs ศัตรูพืช
21 ส.ค. 2566
33
0
ปลวกกับการเกษตร : ประโยชน์ vs ศัตรูพืช
ปลวกกับการเกษตร : ประโยชน์ vs ศัตรูพืช

ปลวกกับการเกษตร : ประโยชน์ vs ศัตรูพืช

ปลวกเป็นแมลงที่เก่าแก่มากชนิดหนึ่ง โดยบรรพบุรุษของปลวกปรากฏขึ้นตั้งแต่ในยุคจูแรสสิก (ยุคที่มีไดโนเสาร์) ซึ่งแมลงสาบก็มีบรรพบุรุษร่วมกับปลวก และปัจจุบันมีการพบปลวกกว่า 3,106 ชนิด กระจายอยู่ในทุกทวีปทั่วโลก ยกเว้นแอนตาร์กติกา (คงหนาวเกินจะอยู่ได้) ปลวกโดยส่วนใหญ่เป็น “ผู้ย่อยสลาย” คือ กินซากพืชที่ตายแล้ว มีเพียงไม่กี่ชนิดที่กิน (ลำ) ต้นไม้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ปกติ จะแบ่งปลวกออกเป็น 2 ประเภทหลัก ตามชนิดอาหารที่กิน คือ (ก) ปลวกชั้นต่ำ ที่กินเนื้อไม้เป็นอาหาร และ (ข) ปลวกชั้นสูง ที่กินดิน ซากอินทรียวัตถุ (ใบไม้) ไลเคน และที่มีวิวัฒนาการสูง คือพวกที่เพาะเลี้ยงเชื้อราไว้กินเป็นอาหาร

ปลวกชั้นต่ำอาศัยโปรโตซัวและจุลินทรีย์ ที่อยู่ในกระเพาะ ย่อยเซลลูโลส (ในเนื้อไม้) แล้วปล่อยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อปลวก ในขณะที่ปลวกจะสร้างเอนไซม์ให้เป็นอาหารกับโปรโตซัวและจุลินทรีย์เป็นการตอบแทน ปลวกชั้นต่ำนี้ที่เป็นศัตรูพืชในการเกษตร รวมทั้งปลวกที่กัดกินไม้ ที่ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือนและอื่นๆ ด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีประโยชน์ไม่น้อย

ส่วนปลวกชั้นสูง [เช่น สายพันธุ์ Macrotermes sp. และ Ancistrotermes sp.] จะเพาะเลี้ยงเชื้อรา [สกุล Termitomyces] เอาไว้ในรัง (คล้ายเราเพาะเห็ดไว้กิน) โดยราจะได้สารอาหารจากมูลของปลวกเป็นการตอบแทน (เห็ด) ราในกลุ่มนี้ ต้องอาศัยพึ่งพากับปลวกเท่านั้น ไม่สามารถอยู่อย่างอิสระด้วยตัวเองได้ เห็ดโคนเป็นหนึ่งในราที่ปลวกเป็นผู้เพาะเลี้ยง ดังนั้น จึงพบเห็ดโคนในบริเวณที่มีปลวกชั้นสูงอาศัยอยู่ ปลวกชั้นสูงนี้เป็นประโยชน์อย่างมากในการเกษตร เพราะเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติที่สำคัญ

รังปลวก/จาวปลวก ที่ปลวกสร้างขึ้น โดยใช้ดิน (ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว) น้ำลาย และมูลปลวก ซึ่งรังปลวกมีโครงสร้างที่ซับซ้อน คือ มีหอคอยสูงเป็นช่องระบายอากาศ และส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัย รวมทั้ง “ห้องใต้ดิน”

เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับปลวก
1 : ปลวกไม่ได้กัดกินรากพืช (ที่ยังมีชีวิต) จนทำให้ต้นไม้ตาย แต่เพราะรากพืชตาย (ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่) ปลวกถึงมากินราก (ที่ตายแล้ว) นั้นปลวกชอบกัดกินต้นไม้ โดยเฉพาะไม้ที่มีเซลลูโลสสูง (ที่มีเนื้อไม้แข็งหน่อย) ซึ่งปกติจะเป็นไม้ยืนต้น (เช่น มะม่วงหิมพานต์ มะม่วง อโวคาโด) แต่บางครั้งก็อาจกัดกินพืชล้มลุกได้ เช่น อ้อย ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ฝ้าย ถั่วลิสง ซึ่งมักจะเกิดในเขตที่อากาศแห้งแล้ง เช่น อินเดีย แอฟริกา ในเมืองไทย มีรายงานปัญหาปลวกในพืชไร่เฉพาะการปลูกอ้อยเท่านั้น ในส่วนของรากต้นไม้นั้น ไม่น่าจะเป็นส่วนที่ปลวกชอบเท่าไหร่นัก ดังนั้น การที่เห็นปลวกในบริเวณโคนต้นไม้ โดยเฉพาะพืชผัก จึงไม่น่าจะแสดงว่า ปลวกมากัดกินรากผัก/ต้นไม้ แต่อาจมากินอินทรียวัตถุบริเวณรอบๆ โคนต้นไม้มากกว่า

2 : ปลวกที่พบในดินโคนต้นไม้ ที่ที่เราเอาฟางหรืออินทรียวัตถุคลุมโคนต้น ปลวกพวกนี้เป็นปลูกชั้นสูง ไม่ได้กินเนื้อไม้ และไม่ได้กัดกินราก แต่ช่วยย่อยสลายฟาง/อินทรียวัตถุให้เป็นอาหารพืช ถ้าปราศจากปลวก การย่อยอินทรียวัตถุก็จะช้าลงไปมาก ซึ่งการย่อยอินทรียวัตถุนี้ จะปลดปล่อยธาตุอาหารออกมา จึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรีไซเคิลธาตุอาหารของระบบนิเวศธรรมชาติ

3 : จุลินทรีย์ย่อยสลายเซลลูโลสนี้อยู่ในกระเพาะปลวก ไม่ได้อยู่ในรังปลวก การนำจาวปลวกมาใช้ จึงไม่ได้ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ในกลุ่มนี้

4 : การนำจาวปลวกมาใช้ จึงไม่ได้ช่วยขยายเชื้อรา (เห็ด) ในฟาร์ม เพราะรานี้จะเจริญเติบโตได้ เฉพาะเมื่ออยู่กับปลวก

5 : ในหลายเว็บไซต์ ที่แนะนำเรื่องจุลินทรีย์จาวปลวก จะระบุว่า จาวปลวกมีจุลินทรียย์ “Bacillus sereus SPt 245” ซึ่งจุลินทรีย์นี้ ไม่ได้มีอยู่จริง (ค้นใน Wikipedia ไม่พบ ไม่มีใครรู้จัก ยกเว้นแต่เป็นจุลินทรีย์สายพันธุ์ใหม่ ที่คนไทยเพิ่งค้นพบ) ที่พบคือ Bacillus cereus ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบในดิน ที่เป็นสาเหตุของอาหารเป็นพิษ ซึ่งเป็นจุลินทรีย์อันตราย ที่ไม่ควรนำมาเผยแพร่ในฟาร์มเกษตร

ประโยชน์ของปลวกในระบบนิเวศน์และการเกษตร
1. ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุแม้ว่า จุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตอื่นจะย่อยอินทรียวัตถุได้ (แล้วปลดปล่อยธาตุอาหารให้กับดินและพืช) แต่ปลวกช่วยย่อยอินทรียวัตถุที่แข็ง (เนื้อไม้) ได้เก่งกว่าคนอื่น ถ้าไม่มีปลวก พวกไม้ต่างๆ คงใช้เวลาย่อยสลายนานขึ้น มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นความสำคัญของปลวกในระบบนิเวศป่าฝน ในฐานะผู้ที่ช่วยหมุนเวียนธาตุอาหาร (ย่อยอินทรียวัตถุ ปลดปล่อยธาตุอาหารให้กับพืช) รักษาความชื้นให้กับดิน

2. รังปลวกมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชเกษตรกรหลายที่ใช้ประโยชน์จากรังปลวก นำมาใช้เป็นแร่ธาตุอาหารให้กับพืช โดยบด/ป่นรังปลวก ผสมในดิน/แปลงปลูก

3. รังปลวกมีแร่ธาตุอาหารสำหรับสัตว์บางชนิดสัตว์เลี้ยง (วัวพื้นบ้าน) และสัตว์ป่า (เช่น แรด ลิง) จะเลีย/กินรังปลวก เพื่อกินแร่ธาตุเพิ่ม

4. เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับสัตว์เลี้ยงสามารถใช้เป็นโปรตีนในอาหารสัตว์ เช่น ไก่ สัตว์ปีก กบ และปลา มีเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่พยายามเพาะเลี้ยงปลวก เพราะเชื่อว่า มีโปรตีนสูงถึงเกือบ 20%

5. เห็ดอาหารคนเห็ดหลายชนิด รวมทั้งเห็นโคน/เห็ดปลวก เป็นหนึ่งในราที่ปลวก (ชั้นสูง) เป็นผู้เพาะเลี้ยง ไม่มีปลวก ก็จะไม่มีเห็ดพวกนี้ให้ได้กินกัน

6. ช่วยพรวนดินเพราะโพรง/รังปลวกที่ขุดอยู่ใต้ดิน ทำให้ดินเป็นโพรง ร่วนซุยขึ้น แต่เฉพาะเมื่อปลวกไม่ได้อยู่ในรังนั้นอีกต่อไปแล้ว

ดังนั้น ก่อนจะจัดการปลวก ลองตั้งสติพิจารณาประโยชน์เหล่านี้ เพราะถ้าเราจัดการปลวกได้สำเร็จ ประโยชน์เหล่านี้ก็อาจะไม่มีอีกต่อไป

แนวทางการจัดการปลวก
ป้องกัน-ลดความเสี่ยง

1. การที่ปลวกจะเลือก/ชอบกินอาหารที่มีเซลลูโลสสูงก่อน ดังนั้น ถ้ามีการปลูกพืชที่มีความเสี่ยงจากการทำลายของปลวก การคลุมฟาง (หรืออินทรียวัตถุอื่น เช่น ตอซัง ขี้เลื่อย หญ้าแฝก) ก็จะลดความเสี่ยงลงได้ เพราะปลวกที่จะเลือกกินอินทรียวัตถุพวกนี้ก่อน แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ ปลวกอาจถูกดึงดูดให้มาในบริเวณดังกล่าวเพิ่มขึ้น

2. การรักษาความชื้นในดินอย่างต่อเนื่องเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะช่วยลดการระบาดของปลวกได้ เพราะปลวกไม่ชอบอยู่ในดิน/บริเวณที่มีความชื้นสูง

3. ในกรณีที่ปลูกพืชล้มลุก ให้ปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งจะทำให้ลดแหล่งอาหารของปลวก (และรวมทั้งโรคและแมลงศัตรูพืชอื่นๆ ด้วย) เพราะถ้าเราปลูกพืชชนิดเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีก จะเกิดแหล่งอาหารที่ต่อเนื่อง ให้โรคและแมลงระบาด (ขยายพันธุ์) อย่างต่อเนื่อง

4. ในกรณีพืชล้มลุก/พืชไร่ ปลวกมักจะระบาดและทำลายต้นในช่วงใกล้เก็บเกี่ยว เพราะเป็นช่วงที่ต้นพืชมีเซลลูโลสมาก (ในทางกลับกัน ปลวกจะไม่ค่อยระบาดช่วงที่ต้นพืชยังเป็นต้นอ่อน) ดังนั้น การจัดเก็บผลผลิตให้รวดเร็ว รวมทั้งจัดการกับซากของต้น ด้วยการทำปุ๋ยหมัก (อาจทำแบบตั้งกอง หรือทำแบบในแปลงก็ได้) เพื่อลดแหล่งอาหารของปลูก (ในกรณีที่ทำแบบตั้งกอง มีข้อเสียตรงที่ต้องใช้แรงงานขนย้ายซากตอซัง และทำให้หน้าดินไม่มีอะไรคลุม)

5. ในกรณีของวัสดุจากไม้ในฟาร์ม (เช่น รั้ว ระแนง ซุ้มไม้เลื้อย) ควรทาไม้ด้วยน้ำมันที่ป้องกันปลวกได้ เช่น น้ำมันจากสบู่ดำ  กำจัด-ทำลายทั้งรังมีหลายคน/ตำราแนะนำวิธีการฆ่าปลวกด้วยพืชสมุนไพรหรือสารที่หาได้ง่าย (เช่น เกลือ น้ำส้มสายชู) ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์อะไร เพราะปลวกที่เราเห็น (และกำจัดได้) เฉพาะปลวกงานเท่านั้น ซึ่งราชินีปลวกก็จะออกลูกมาทดแทนได้ในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้น การกำจัดจึงต้อง “ทำยกรัง”

6. เชื้อราเขียว-ราขาว-ราเหลือง คือ เมธาไรเซียม (Metarhizium anisopliae) บิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) เชื่อราเหลือง (Paecilomyces fumosoroseus) เป็นลำดับแรกที่อยากแนะนำให้ใช้ เพราะสปอร์ของเชื้อราจะเกาะที่ตัวปลวกงาน เข้าไปแพร่เชื้อต่อในรังปลวก

7. ไส้เดือนฝอย ซึ่งนิยมใช้ในการกำจัดแมลงที่อยู่ใต้ดิน โดยไส้เดือนฝอยที่ผลิตออกามาจำหน่ายมีอยู่ 3 ชนิดหลัก คือ S. carpocapsae, S. scapterisci, และ S. riobravis ก็น่าจะได้ผลดีเหมือนกันกับพวกเชื้อรา แต่อาจหาซื้อได้ยากหน่อย

ตกลง