หนุ่มนครปฐม ปลูกกระชายเป็นรายได้เสริม โกย 2-3 แสน/ไร่
25 พ.ย. 2564
796
0
หนุ่มนครปฐม ปลูกกระชายเป็นรายได้เสริม โกย 2-3 แสน/ไร่
หนุ่มนครปฐม ปลูกกระชายเป็นรายได้เสริม โกย 2-3 แสน/ไร่

หนุ่มนครปฐม ปลูกกระชายเป็นรายได้เสริม โกย 2-3 แสน/ไร่

คนไทยจำนวนมากใช้หลักการรับประทานสมุนไพรและอาหารไทยเพื่อรักษาสมดุลของธาตุ สร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ทั้งนี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้คนไทยสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย โดยใช้พืชสมุนไพรและอาหารไทยที่มี รสเย็นเป็นพื้นฐานเพื่อลดความร้อนในร่างกาย (ลดไข้) ใช้สมุนไพรและอาหารไทยที่มี รสสุขุมเพื่อปรับสมดุลธาตุ และใช้สมุนไพรและอาหารไทยที่มี รสเปรี้ยวเพื่อกัดเสมหะ ฟอกโลหิต เป็นต้น

กระชาย  สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

กระชาย ได้ชื่อว่าเป็นโสมของคนไทย “Thai ginseng” และเป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน ข้อมูลจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระบุว่า กระชาย มีสรรพคุณทางยา แก้โรคในปาก เช่น ปากเปื่อย ปากเป็นแผล ขับระดูขาว ขับปัสสาวะ รักษาโรคบิด แก้ปวดมวนท้อง รักษาอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ช่วยย่อยอาหาร เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย แก้ลมวิงเวียน

ด้าน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับทุนวิจัยจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ทำการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านไวรัสก่อโรคโควิด-19 (SARS-CoV-2) ของกระชาย พบว่า สารสกัดกระชายและสาร Panduratin A มีฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของไวรัสที่แรงกว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจร และ Andrographolide อย่างไรก็ดี ยังเป็นเพียงผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการ ที่ยังต้องมีการวิจัยประสิทธิผลในมนุษย์ต่อไป หากได้ผลดี สามารถใช้รักษาร่วมกับยาแผนปัจจุบัน ช่วยบรรเทาอาการของโรค และเป็นการส่งเสริมการพึ่งตนเองด้านยาของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

ปลูกกระชายรายได้ดี

ปัจจุบัน กระชายเป็นพืชเศรษฐกิจที่ขายดี เป็นที่นิยมในท้องตลาดอย่างมาก เนื่องจากมีผลวิจัยทางการแพทย์ยืนยันว่า สารสกัดกระชายมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคหรือยับยั้งไวรัสโควิดได้ด้วยหลอดทดลอง ทำให้กระชายขายได้ราคาดี สร้างแรงจูงใจให้มีเกษตรกรสนใจปลูกกระชายกันอย่างกว้างขวาง

คุณทวี แสงสุรีย์ฉาย วัย 52 ปี โทร. 081-651-5694 เจ้าของกิจการร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ในพื้นที่อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ปลูกกระชายเป็นอาชีพเสริมรายได้มานานกว่า 5 ปี ปัจจุบัน รายได้จากการขายกระชายสร้างเม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำแซงหน้ากิจการร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์หลายเท่าตัว

คุณทวี กล่าวว่า เดิมผมเปิดร้านรับซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ และมีที่ดินว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวน 3 ไร่ จึงสนใจปลูกกระชายเป็นรายได้เสริม ซึ่งการปลูกกระชายไม่ใช่เรื่องยากสำหรับผม เพราะเคยช่วยพ่อแม่ปลูกกระชายมานานกว่าสิบปีแล้ว สำหรับการลงทุนปลูกกระชายครั้งแรก มีค่าใช้จ่ายในการเตรียมดิน ค่าต้นพันธุ์ ค่าปุ๋ย สารกำจัดวัชพืช ค่าแรงงาน ฯลฯ ใชเงินลงทุนค่อนข้างสูงประมาณ 15,000-20,000 บาท/ไร่ หลังปลูกสามารถเก็บผลผลิตรุ่นแรกออกขายได้ใน 7 เดือน หลังหักค่าใช้จ่าย ผมมีรายได้เท่าทุนหรือเสมอตัว การปลูกกระชายรุ่น 2 ในพื้นที่เดิม ประหยัดต้นทุนค่าเตรียมดิน ทำให้มีผลกำไรเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น หากใครมีพื้นที่ว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ คุณทวีแนะนำให้หันมาปลูกกระชายเป็นอาชีพเสริม กระชายสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี กระชายเติบโตได้ดีในพื้นที่น้ำไม่ท่วมขัง ระบายน้ำได้ดี ดินลักษณะร่วนซุย หากมีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับใช้เพาะปลูก หากแหล่งที่ปลูกเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเสี่ยงเจอปัญหาน้ำท่วมขัง ควรปลูกแบบยกร่องสูง เพราะกระชายเป็นพืชที่ชอบน้ำ แต่ไม่ทนน้ำท่วมขัง

หลังปลูก ต้องรดน้ำเช้า-เย็น ใส่ปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยคอก บำรุงดินอย่างสม่ำเสมอ และใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 เร่งราก เร่งใบ ปีละ 2 ครั้ง ใส่ปุ๋ยประมาณ 3 ลูก ต่อไร่ ปัจจุบัน คุณทวี ปลูกกระชายพันธุ์รากกล้วย ซึ่งเป็นกระชายพันธุ์ดี เป็นที่นิยมในท้องตลาดพื้นที่ปลูก 1 ไร่ สามารถเก็บกระชายขายได้ 2-3 ตัน เรื่องตลาดไม่น่าห่วงเพราะมีแม่ค้ามารับซื้อผลผลิตถึงไร่ในราคาเฉลี่ย กิโลกรัมละ 100 บาท ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกกระชาย 1 ไร่ สามารถสร้างเม็ดเงินได้ไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนบาททีเดียว หักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเหลือผลกำไรก้อนโต เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดยังขยายตัวในวงกว้าง ทำให้กระชายเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและส่งออกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาซื้อขายกระชายทุกสายพันธุ์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่า 100 บาท/กิโลกรัม

เทคนิค ปลูกกระชายให้ได้ผลผลิตที่ดี

กระชายสามารถปลูกได้ทั่วประเทศ โดยมีแหล่งปลูกสำคัญอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี นครสวรรค์ ราชบุรี จากสถิติของกรมส่งเสริมการเกษตรพบว่า ที่ผ่านมาจังหวัดนครปฐมเป็นแหล่งปลูกกระชายมาก โดยเฉพาะอำเภอดอนตูม มีพื้นที่รวม 1,141 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 2,000 กิโลกรัม/ไร่ มีช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายน-เดือนเมษายน

สายพันธุ์กระชายที่นิยมปลูกในประเทศไทยได้แก่ 1. พันธุ์ที่ใช้เป็นยา คือ กระชายพันธุ์พื้นเมือง มีรากสั้น หรือเรียกว่า กระชายปุ้ม นิยมปลูกไว้ทำยา หรือเป็นส่วนประกอบเครื่องแกง เพราะมีกลิ่นหอม 2. กระชายพันธุ์เกษตร มีรากยาว มีขนมาก หรือเรียกว่ากระชายรากกล้วย มีน้ำหนักมาก นิยมปลูกเพื่อการค้า 3. กระชายป่า พบได้ตามป่าเขาตามธรรมชาติ เกษตรกรนิยมเก็บผลผลิตออกขายในช่วงฤดูฝน

กระชายนิยมขยายพันธุ์ด้วยหัว หรือเหง้าที่ติดกับลำต้น เมื่อผ่าดูจะพบสีเหลืองฉุน จะติดกันเป็นกลุ่มแยกออกได้   หัวกระชาย ทิ้งไว้สัก 2-3 สัปดาห์ จะเห็นหน่อสีแดงงอกมาจากหัวกระชาย สามารถนำลงแปลงปลูกได้เลย เกษตรกรนิยมปลูกกระชายในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เพราะช่วงฤดูฝนกระชายเจริญเติบโตงอกงามดี

กระชายนิยมปลูกในแปลงแบบยกร่อง โดยการเตรียมดินให้เรียบร้อยผสมปุ๋ยและขี้เถ้าแกลบ แล้วยกร่อง นำพันธุ์เหง้ากระชายที่เตรียมไว้นำมาฝังดินเป็นแถวห่างกัน ประมาณ 20 เซนติเมตร แล้วคลุมด้วยฟางควรรดน้ำสม่ำเสมอ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ กระชายจะงอกออกมา

โรคพืชที่สำคัญของกระชายคือ โรคเหง้าเน่า มักพบการแพร่ระบาดในช่วงอากาศร้อนและมีฝนตกหนัก กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกกระชายให้เฝ้าระวังโรคเหง้าเน่า ที่สามารถพบได้ในระยะการเจริญเติบโตของต้นกระชาย อาการเริ่มแรกใบแสดงอาการม้วนห่อ สีของใบซีด ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแห้ง บริเวณโคนต้นมีอาการฉ่ำน้ำ ลำต้นเน่าหลุดออกจากเหง้าได้ง่าย หักพับ แต่ไม่มีกลิ่นเหม็น หากตรวจดูที่ลำต้นจะพบส่วนของท่อลำเลียงน้ำและอาหารมีสีน้ำตาลเข้ม เมื่อผ่าลำต้นตัดตามขวางและนำมาแช่ในน้ำสะอาด ประมาณ 5-10 นาที จะพบของเหลวสีขาวคล้ายน้ำนมไหลออกม

เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นกระชายที่เริ่มแสดงอาการของโรคเหง้าเน่า ให้ขุดต้นที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดแหล่งสะสมเชื้อสาเหตุโรค จากนั้นให้โรยด้วยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุด เพื่อป้องกันการระบาดของโรค และควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรที่ใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ทุกครั้ง ส่วนในแปลงที่มีการระบาดของโรค หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เกษตรกรเก็บส่วนต่างๆ ของพืชที่เป็นโรคนำไปทำลายทิ้งนอกแปลงปลูกทันที

การป้องกันกำจัดโรคเหง้าเน่าในฤดูปลูกถัดไป เกษตรกรควรเลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่เคยพบการระบาดของโรคนี้มาก่อน และควรทำแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี อีกทั้งเกษตรกรควรเตรียมดินก่อนปลูก โดยการไถพรวนดินให้ลึกจากผิวดินมากกว่า 20 เซนติเมตรขึ้นไป และตากดินไว้ให้นานกว่า 2 สัปดาห์ จะสามารถช่วยลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรคในดินลงได้มาก

นอกจากนี้ กรณีในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรค ก่อนปลูก ให้อบดินเพื่อฆ่าเชื้อโรคด้วยการโรยยูเรียผสมปูนขาว อัตรา 80:800 กิโลกรัม ต่อไร่ จากนั้นให้ไถกลบและรดน้ำให้ดินมีความชื้นและทิ้งไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ จึงเริ่มปลูกกระชาย อีกทั้งให้เลือกใช้หัวพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค หลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรค เช่น พืชตระกูลขิง พืชตระกูลมะเขือ มันฝรั่ง พริก และถั่วลิสง รวมถึงควรสลับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เช่น ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค

แหล่งที่มาข้อมูล : เเนวทางปฏิบัติทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 กองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (หน้า 14 และ หน้า 18)

 

 

 

 

 

 

ตกลง