เพาะปลูกอย่างไรให้ได้คาร์บอนเครดิต?
17 เม.ย. 2566
64
0
เพาะปลูกอย่างไรให้ได้คาร์บอนเครดิต?
เพาะปลูกอย่างไรให้ได้คาร์บอนเครดิต?

วันที่ 17 เมษายน 2566 สปษ.โรม ได้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาคาร์บอนเครดิตออนไลน์ในหัวข้อ “เพาะปลูกอย่างไรให้ได้เครดิต?” จัดโดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส เพื่อเสริมสร้างความรู้แก่กลุ่มเกษตรกรและบริษัทเอกชนในการผลิตเพื่อให้ได้รับคาร์บอนเครดิต เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) โดยมีผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) และผู้แทนจากบริษัท Spiro Carbon จากรัฐยูทาห์ เป็นวิทยากร

สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย (ปี 2562) พบว่า ภาคพลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด (70%) รองลงมาคือภาคเกษตร (15%) โดยกิจกรรมการปลูกข้าวปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่าครึ่ง (50.58%) เนื่องจากกระบวนการทำนาที่ขังน้ำไว้ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนปริมาณมาก

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ประเทศไทยต้องบรรลุภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางและพัฒนากลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต และตลาดคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ ดังนั้น การพัฒนาการเพาะปลูกให้ได้คาร์บอนเครดิตจึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของประชาชน ทั้งยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมในภาพรวม และยังเป็นการต่อยอดการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ (BCG)

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลและตรวจสอบโครงการคาร์บอนเครดิตในไทย ได้พัฒนา “โปรแกรม T-VER” ขึ้น ตั้งแต่ปี 2557 โดยเป็นกลไกคาร์บอนเครดิตในรูปแบบสมัครใจเพื่อเป็นแรงจูงใจในการลดก๊าซเรือนกระจก สามารถตรวจวัดการลดก๊าซเรือนกระจกได้จริงจากกิจกรรมในประเทศไทย ไม่มีการนับซ้ำและก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม โดยการประเมินคาร์บอนเครดิตจะวัดจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดหรือกักเก็บได้จากการดำเนินงานภายใต้โครงการ และได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนวิธีการทำนา โดยวิธีทำนาแบบ “เปียกสลับแห้ง” จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากเป็นการลดระยะเวลาการขังน้ำในพื้นที่นาซึ่งจะลดการสะสมของก๊าซมีเทนในแปลงนา จากการทดลองของบริษัท Spiro Carbon ที่ได้ร่วมโครงการกับชาวนาในประเทศไทย พบว่าสามารถช่วยลดก๊าซมีเทนในแปลงนาลงได้ถึง 70% และสามารถนำไปยื่นเป็นโครงการคาร์บอนเครดิตได้ด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลการซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนปีงบประมาณ 2566 มีปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ 2,064,915 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 154,774,826 บาท ซึ่งเฉลี่ยราคาอยู่ที่ 74.95 บาทต่อตัน (ราคาขึ้นอยู่กับการตกลงราคาระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย)

 

 

 

ตกลง