FAO เปิดตัวรายงานผลการศึกษาความสำคัญของอาหารที่มาจากผลิตภัณฑ์สัตว์
26 เม.ย. 2566
58
0
FAOเปิดตัวรายงานผลการศึกษาความสำคัญของอาหารที่มาจากผลิตภัณฑ์สัตว์
FAO เปิดตัวรายงานผลการศึกษาความสำคัญของอาหารที่มาจากผลิตภัณฑ์สัตว์

วันที่ 25 เมษายน 2566 สปษ.โรม ได้เข้าร่วมการประชุมเปิดตัวรายงานผลการศึกษาความสำคัญของอาหารที่มาจากผลิตภัณฑ์สัตว์ - เพื่อสุขภาพที่ดี เพื่อปรับปรุงโภชนาการ และผลลัพธ์ด้านสุขภาพ (The Contribution of terrestrial animal source food to healthy diets for improved nutrition &health outcomes) เพื่อเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยถึงบทบาทของสัตว์บก (Terrestrial animal) ในบริบทของความมั่นคงอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดี และหารือถึงนโยบายในการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคสัตว์บก โดยมีรองผู้อำนวยการใหญ่ FAO ผู้แทนจาก WHO นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา และผู้อำนวยการ ด้านปศุสัตว์ของ FAO ร่วมนำเสนอข้อมูลต่อที่ประชุม

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ได้ให้นิยาม Terrestrial animal source food หรือ TASF ว่าเป็นอาหารที่มาจากผลิตภัณฑ์สัตว์ ทั้งจากการผลิตแบบปศุสัตว์และรวมถึงสัตว์ป่า

FAO เผยว่า คณะทำงานได้ศึกษาและสังเคราะห์ข้อมูล จากเอกสารวิจัยกว่า 500 เรื่อง และเอกสารเชิงนโยบาย 250 ฉบับ ซึ่งรายงานผลการศึกษาว่า อาหารที่มาจากผลิตภัณฑ์สัตว์บก (TASF) เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญ และมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อแดง ไข่ และนม ซึ่งมีสารอาหารสำคัญในรูปโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และแร่ธาตุต่างๆ เช่น เหล็ก แคลเซียม เซเรเนียม วิตามินบี 12 ที่แม้แต่อาหารจาก plant-based food ก็ไม่สามารถทดแทนได้

จากรายงานพบว่าการบริโภคเนื้อแดงแปรรูป แม้ในระดับที่ต่ำ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular diseases) และมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (colorectal cancer) แต่หากบริโภคเนื้อแดงที่ไม่ผ่านการแปรรูปในปริมาณที่เหมาะสม (9-17 กรัม/วัน) ยังจัดว่าปลอดภัย หรือมีความเสี่ยงต่ำในการเกิดโรคดังกล่าว นอกจากนี้ การบริโภคนม ไข่ และสัตว์ปีก ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง และกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และความดันโลหิตสูง พบว่าการบริโภคไข่และสัตว์ปีก ไม่มีนัยยะสำคัญในการเกิดโรคดังกล่าว ในขณะที่การบริโภคนมไม่พบความเชื่อมโยงในการเกิดโรค

ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า TASF มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดี เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง หากมีการบริโภค TASF ในปริมาณเหมาะสม ซึ่งปริมาณการบริโภค TASF ที่เหมาะสมจะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงอายุ วัยเด็กเล็ก วัยรุ่น สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ปัจจัยทางเศรษฐกิจก็ส่งผลต่อการเข้าถึงและการบริโภค TASF ด้วยเช่นกัน ดังนั้น นโยบายการให้ความรู้ประชาชนถึงการบริโภค TASF ในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพของผู้บริโภค

นอกจากนี้ พบว่า ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง-สูง จะให้ความสำคัญต่อนโยบายกระบวนการผลิตที่ส่งเสริมสวัสดิภาพของสัตว์ (Animal Welfare) ซึ่งการเลี้ยงสัตว์ให้มีความสุข มีสุขภาพแข็งแรง จะส่งผลต่อคุณภาพและความปลอดภัยของเนื้อสัตว์โดยตรงอีกด้วย

ในส่วนของประเทศไทย แม้ว่ามาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ Animal Welfare หรือหลักสวัสดิภาพสัตว์ จะมีสหภาพยุโรปเป็นผู้ริเริ่ม แต่ประเทศไทยก็ได้นำมาตรฐานนี้มาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่น พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีการดำเนินการการดูแลภายใต้หลักการที่มุ่งเน้นให้สัตว์ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม มีความเป็นอยู่สุขสบาย ปราศจากความทุกข์ทรมาน ตลอดระยะเวลาการเลี้ยง

ตกลง