กษ. ประชุมทูตเกษตร ร่วมวางแผนการดำเนินงาน
8 พ.ค. 2566
53
0
กษ. ประชุมทูตเกษตร ร่วมวางแผนการดำเนินงาน
กษ. ประชุมทูตเกษตร ร่วมวางแผนการดำเนินงาน

 

วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 สปษ. โรม ได้เข้าร่วมประชุมหารือระหว่างผู้บริหาร กษ. และหัวหน้าสำนักงานที่ปรึกษาฯ ร่วมกับผู้แทนสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศทั้ง 11 แห่ง โดยมี นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อเตรียมหารือถึงการดำเนินงานในปี 2566 การพัฒนาระบบขับเคลื่อนนโยบายการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศของ กษ. และโอกาสในการเปิดตลาดใหม่

ผู้แทน สปษ.โรม นางสาวรัชนก แสงเพ็ญจันทร์ ที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) และรักษาราชการแทน อัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO ณ กรุงโรม ได้นำเสนอบทบาทของ สปษ.โรม และการดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินงานพหุภาคีกับองค์การสหประชาชาติ ประจำกรุงโรม ทั้ง 3 หน่วยงาน ซึ่งรับผิดชอบการกำหนดนโยบายและมาตรฐานด้านเกษตรและอาหารของโลก ได้แก่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (IFAD) และโครงการอาหารโลก (WFP) โดยประเทศไทยได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงการเป็นผู้แทนของภูมิภาคเอเชียในการประชุมสำคัญ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านการปศุสัตว์ของ FAO (Sub-committee on Livestock) คณะกรรมการงบประมาณการเงิน (Finance Committee: FC) คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนกิจกรรมทศวรรษแห่งเกษตรกรรมแบบครอบครัว (Steering Committee on International UN Decade of Family Farming 2019-24) ของสหประชาชาติ และ ผู้ประสานงานระหว่าง FAO และประเทศไทย ดำเนินงานขับเคลื่อนกิจกรรมวันดินโลก (World Soil Day) และการมอบรางวัลภูมิพลวันดินโลก ๕ ธันวาคม ของทุกปี นอกจากนี้ ตั้งแต่ กรกฎาคม 2566 ประเทศไทยจะดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารสภามนตรี FAO (FAO Bureau Member) ซึ่งมีวาระ 1.5 ปี อีกด้วย

นางศุภจิต ศรีอริยวัฒน์ ที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ได้นำเสนอรายงานสถานการณ์สินค้าเกษตรในอิตาลี จากสถิติในปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปยังอิตาลีเป็นอันดับที่ 19 ของโลก มีมูลค่าส่งออก 6,615.80 ล้านบาท โดย สินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยส่งออกมายังอิตาลี มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง ปลาหมึกสด/แช่แข็ง ยางพารา ข้าว และ และอาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป ตามลำดับ และได้สรุปการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดสินค้าเกษตรในอิตาลี ดังนี้

- ความนิยมในการบริโภคและแนวโน้มตลาดในอิตาลี พบว่า จากผลกระทบโควิด-19 และความท้าทายของโลก ทำให้ผู้บริโภคอิตาเลียนนิยมบริโภคอาหารแช่แข็งและอาหารพร้อมปรุง/ทาน มากขึ้น โดยเฉพาะปลา ปลาหมึก ทั้งในรูปสดและแช่แข็ง เนื่องจากปรุงอาหารสะดวก มีคุณค่าทางโภชนาการ และเก็บรักษาได้นาน ในขณะที่ความนิยมของการบริโภคเนื้อสัตว์ลดลง เนื่องจากการแพร่ระบาดในสัตว์ และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้กระแสนิยมของกลุ่มผู้บริโภคเริ่มสนใจอาหารจากโปรตีนทางเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

- ประเด็นความท้าทาย พบว่า การออกมาตรการของกลุ่มสหภาพยุโรปที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ เช่น แผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีเขียวของสหภาพยุโรป (EU Green Deal) มาตรการกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products) การส่งเสริมการค้าที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ให้ความสำคัญต่อประเด็นสิทธิทางมนุษยชน และความเหลื่อมล้ำ เช่น สิทธิสตรี การใช้แรงงานเด็ก ทำให้ผู้บริโภคชาวยุโรปมีความต้องการสินค้าซึ่งมาจากกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน (Sustainability) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญต่อสวัสดิภาพคน สัตว์เพิ่มขึ้น

ดังนั้น ประเทศไทยควรใช้จุดแข็งในด้านการเกษตรและอาหาร การมีวัตถุดิบที่หลากหลาย เป็นโอกาสในการขยายตลาด เน้นการประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ถึงคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยได้มาตรฐานสากล (Safety) กระบวนการผลิตที่ยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainability) และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability)

 

ตกลง