สถานการณ์สิ่งแวดล้อมและไม้ผลในอิตาลี
5 พ.ค. 2566
128
36
สถานการณ์สิ่งแวดล้อมและไม้ผลในอิตาลี
สถานการณ์สิ่งแวดล้อมและไม้ผลในอิตาลี
สถานการณ์สิ่งแวดล้อมและไม้ผลในอิตาลี

สถานการณ์เกษตรทั่วไปอิตาลี

              ภาคเกษตรอิตาลียังคงประสบปัญหาความผันผวนของราคาวัตถุดิบ เชื้อเพลิงและพลังงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ทั้งภาคปศุสัตว์ เกษตร และประมง ทั้งนี้ นอกจากต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ผันผวน ยังเกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง สร้างความเสียหายและทำให้ต้นทุนการป้องกันเพิ่มขึ้นไปอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผักและไม้ผล

สถานการณ์สิ่งแวดล้อมและไม้ผลในอิตาลี

ปัจจุบันอิตาลีประสบปัญหาพื้นที่ทำการเกษตรลดลง พบว่าอิตาลีมีพื้นที่ปลูกผลไม้ในปัจจุบันเหลือเพียง 516,000 เฮกเตอร์ (-16.5%) หรือมีจำนวนต้นผลไม้ลดลงราว 100 ล้านต้น ไม่ว่าจะเป็นต้นแอปเปิ้ล แพร์ เชอร์รี่ องุ่น กีวี เกาลัด มะนาวและส้ม เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 15 ปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นส้มซึ่งหายไปกว่า 16.4 ล้านต้น (-20%) ต้นพีช ลดลงเกือบ 20 ล้านต้น (-33%) องุ่น 30.4 ล้านต้น (-43%) เนคทารีน 14.9 ล้านต้น (-45%) และลูกแพร์ 13.8 ล้านต้น (-34%) ซึ่งมีผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกเนื่องจากอิตาลีเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกผลไม้หลักไปยังสหภาพยุโรป (3.8 พันล้านยูโร)

ปัญหาจำนวนต้นไม้ลดลงในปัจจุบัน ยังส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เกิดน้ำท่วมและดินถล่ม ความสามารถในการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง ความหลากหลายทางชีวภาพและคุณภาพอากาศลดลง จากการวิเคราะห์ของ Rete Climate (www.reteclima.it) ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ความยั่งยืนและการลดคาร์บอนของอิตาลี รายงานว่า ต้นไม้ขนาด 1 เฮกตาร์สามารถกำจัดฝุ่นและหมอกควันได้ประมาณ 20 กิโลกรัมในหนึ่งปี ดังนั้น อิตาลีจึงสูญเสียความสามารถในการดูดซับมลพิษถึง 2 ล้านกิโลกรัมต่อปี

สถานการณ์ไม้ผลของอิตาลีประสบปัญหา 1) ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เนื่องจากปัจจัยต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 42% ตั้งแต่เชื้อเพลิง ปุ๋ย บรรจุภัณฑ์ รวมไปถึงต้นทุนในการป้องกันและกำจัดเชื้อโรค/ศัตรูพืชต่างถิ่นชนิดใหม่ 2) ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สร้างความเสียหายต่อพืชผล
3) การขาดแคลนแรงงาน เพื่อเก็บเกี่ยวผลิตผลเมื่อถึงฤดูกาล 4) การกีดกันทางการค้า เช่น ลูกแพร์ Nashi จากประเทศจีนที่มีต้นทุนต่ำกว่าเข้าสู่ตลาดอิตาลี ในขณะที่ลูกแพร์/แอปเปิ้ลอิตาลียังรอการอนุมัติด้านสุขอนามัยพืชจากประเทศจีน เช่นเดียวกับกีวีที่ยังรอการอนุมัติเพื่อเข้าตลาดญี่ปุ่น 5) นอกจากนี้ อิตาลียังประสบปัญหาการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยผลิตภัณฑ์อาหารเกือบ 1 ใน 5 ที่นำเข้ามาในอิตาลีไม่เป็นไปตามกฎระเบียบว่าด้วยการคุ้มครองสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหรือสิทธิของแรงงานที่บังคับใช้ในอิตาลี

สถานการณ์การผลิตผักและผลไม้ของอิตาลีในปัจจุบัน มีจำนวนฟาร์มกว่า 300,000 แห่ง มีการจ้างแรงงานภาคเกษตรมากถึง 40% ของภาคเกษตรกรรมทั้งหมด และมีมูลค่าการซื้อขายสินค้าในกลุ่มนี้ (ผักและผลไม้สดและแปรรูป) ประมาณ 15 พันล้านยูโรต่อปี หรือคิดเป็น 25% ของมูลค่าในภาคเกษตรทั้งหมด

นอกจากนี้ การบริโภคผักและผลไม้ของชาวอิตาเลียนในปี 2566 (มกราคม – กุมภาพันธ์) ลดลง 9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 เนื่องจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ได้ทำลายผลผลิตที่ผ่านมา (ข้อมูล Coldiretti/Cso Italy) ทั้งนี้ พบว่าการบริโภคอาหารทั่วไปของชาวอิตาเลียนลดลง 4.7% (มกราคม – กุมภาพันธ์ 2566) ด้วยกำลังซื้อที่น้อยลงจากอัตราเงินเฟ้อและการผลักภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นของผู้ผลิตมาให้ผู้บริโภค

ปี 2565 พบว่าชาวอิตาเลียนบริโภคผักและผลไม้จำนวน 5.5 พันล้านกิโลกรัม ซึ่งลดลงจากปีที่แล้ว 8.3% คิดเป็นปริมาณถึง 5 ร้อยล้านกิโลกรัม นอกจากนี้ ยังพบว่าปริมาณการซื้อทั้งผักและผลไม้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกแพร์ (-17%) ส้มและองุ่น (11%) ลูกพีช (8%) เนคทารีนและกีวี (8%) แอปเปิ้ล (5%) หน่อไม้ฝรั่ง (24%) และผักแรดิคิโอ้ (20%)

อิตาลีมีนโยบายสนับสนุนให้ชาวอิตาเลียนรับประทานอาหารที่ผลิตในประเทศ เพราะอิตาลีมั่นใจในคุณภาพที่สามารถตรวจสอบได้ เพื่อสุขภาพที่ยั่งยืนของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักผลไม้ที่รับประกันความสดใหม่ตามฤดูกาล มีข้อมูลบนฉลากชัดเจนและโปร่งใส  มีกระบวนการควบคุมและตรวจสอบในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การเริ่มเตรียมดินจนได้ผลผลิตเป็นอาหารถึงมือผู้บริโภค นอกจากนี้ สมาพันธ์เกษตรกรอิตาลี (Coldiretti) ยังผลักดันให้จัดกิจกรรมภาคสนามในโรงเรียนระดับประถมและมัธยมต้นทั่วประเทศ เพื่อให้นักเรียนเข้าชมกระบวนการผลิตที่มาของอาหารในฟาร์มและทดลองรสชาดอาหารสดใหม่จากฟาร์ม โดยมีจุดประสงค์เพื่ออบรมให้ผู้บริโภคตระหนักถึงหลักการของการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารตามฤดูกาล ดังนั้น ประเทศอิตาลีจึงเป็นผู้นำระดับโลกในด้านคุณภาพอาหาร มุ่งมั่นผลักดันอาหารเมดิเตอร์เรเนียนสู่ตลาดโลก โดยดูแลทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ผู้ผลิต โดยการส่งเสริมความกินดีอยู่ที่ดีของเกษตรกร ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ไปจนถึงผู้บริโภค โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพประชาชน ไม่สนับสนุนอาหารขยะ

ตกลง