รายงานดัชนีราคาอาหารโลกของ FAO เดือนตุลาคม 2566
6 พ.ย. 2566
503
133
FAO รายงานข้อมูลดัชนีราคาอาหารโลก เดือนตุลาคม 2566 - ชี้ดัชนีราคาอาหารโลกยังอยู่ในช่วงขาลง ยกเว้นราคานมผงที่ดีดตัวขึ้น
รายงานดัชนีราคาอาหารโลกของ FAO เดือนตุลาคม 2566
รายงานดัชนีราคาอาหารโลกของ FAO เดือนตุลาคม 2566

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยรายงานดัชนีราคาอาหารโลก ประจำเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 120.6 จุด ลดลง 0.5 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกันยายน 2566 หรือลดลง 14.8 จุด (10.9 เปอร์เซ็นต์) เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมปีก่อน สะท้อนถึงดัชนีราคาน้ำตาล ธัญพืช น้ำมันพืช และเนื้อสัตว์ที่ลดลง ซึ่งยังถือว่าลดลงระดับปานกลาง ยกเว้นผลิตภัณฑ์นมซึ่งเป็นเพียงดัชนีเดียวที่ปรับตัวสูงขึ้น

ดัชนีราคาธัญพืชของ FAO ในเดือนตุลาคม เฉลี่ยอยู่ที่ 125.0 จุด ลดลง 1.0 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกันยายน โดยราคาข้าวระหว่างประเทศลดลงร้อยละ 2.0 แม้จะมีความต้องการนำเข้าจากทั่วโลก ส่วนราคาข้าวสาลีลดลง 1.9 เปอร์เซ็นต์ ได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่สูงในช่วงเก็บเกี่ยวในสหรัฐอเมริกาและการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดผู้ส่งออก ในขณะที่ราคาธัญพืชหยาบ โดยเฉพาะข้าวโพดมีราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนจากอุปทานในอาร์เจนตินาที่ลดลง

ดัชนีราคาน้ำมันพืชของ FAO ในเดือนตุลาคม เฉลี่ยอยู่ที่ 120.0 จุด ลดลงจากเดือนกันยายน 0.7 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าลดลงสามเดือนติดต่อกัน ซึ่งราคาน้ำมันปาล์มโลกที่ลดลงมีผลจากปริมาณผลผลิตตามฤดูกาลที่สูงขึ้นและความต้องการนำเข้าทั่วโลกที่ลดลง ในขณะที่ราคาน้ำมันถั่วเหลืองในตลาดโลกดีดตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดไบโอดีเซล โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ส่วนราคาน้ำมันดอกทานตะวันระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการนำเข้าทั่วโลก และราคาน้ำมันเรพซีด เพิ่มขึ้นระดับปานกลางซึ่งมีผลมาจากปริมาณการเพาะปลูกในแคนาดาที่มีแนวโน้มลดลง

ดัชนีราคาน้ำตาลของ FAO ในเดือนตุลาคม เฉลี่ยอยู่ที่ 159.2 ลดลง 2.2 เปอร์เซ็นต์จากเดือนก่อน และยังคงสูงกว่าระดับราคาในเดือนตุลาคมปีก่อน 46.6 เปอร์เซ็นต์ การลดลงของราคาในเดือนตุลาคมส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการผลิตในบราซิลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนปัจจัยจากค่าเงินเรียลบราซิลที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และราคาเอธานอลของบราซิลที่ลดลงส่งผลกระทบถึงราคาน้ำตาลในตลาดโลกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม FAO ยังแสดงความกังวลถึงอุปทานน้ำตาลทั่วโลกที่ในฤดูกาล 2023/24 ที่อาจมีจำกัด และกระทบต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลก ประกอบกับข้อจำกัดด้านลอจิสติกส์ในบราซิลที่ทำให้การขนส่งสินค้าล่าช้าลง

ดัชนีราคาเนื้อสัตว์ของ FAO ในเดือนตุลาคม เฉลี่ยอยู่ที่ 112.9 จุด ลดลง 0.6 เปอร์เซ็นต์จากเดือนก่อน นับเป็นการลดลงสี่เดือนติดต่อกัน มีสาเหตุมาจากความต้องการนำเข้าจากตลาดเอเชียตะวันออกที่ซบเซา โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่ราคาลดลงติดต่อกันสามเดือน  ส่วนราคาเนื้อสัตว์ปีกทั่วโลกดีดตัวขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากการระบาดของไข้หวัดนกยังคงจำกัดอุปทานจากผู้ผลิตชั้นนำของโลกหลายรายที่ไม่เพียงพอกันความต้องการซื้อของผู้บริโภค ส่วนราคาเนื้อวัวและเนื้อโคระหว่างประเทศก็เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยตามความต้องการบริโภคที่สูงขึ้น แม้ว่าจะมีอุปทานเนื้อวัวจากออสเตรเลียและบราซิลและเนื้อวัวจากโอเชียเนียอย่างเพียงพอก็ตาม

ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์นมของ FAO ในเดือนตุลาคม เฉลี่ยอยู่ที่ 111.3 จุด เพิ่มขึ้น 2.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งลดลงติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเก้าเดือนที่ผ่านมา  โดยราคานมผงทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากที่สุดจากความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งปริมาณการผลิตนมในยุโรปตะวันตกที่จำกัดเนื่องจากความไม่แน่นอนของสภาพอากาศและปรากฎการณ์เอลนีโญ ตรงกันข้ามกับราคาเนยในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากยอดขายปลีกที่สูงขึ้นก่อนถึงช่วงวันหยุดฤดูหนาวในตลาดยุโรปตะวันตก ส่วนราคาชีสระหว่างประเทศลดลงเล็กน้อยจากค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และความสามารถการส่งออกในโอเชียเนียที่เพิ่มขึ้น

แปลและเรียบเรียงโดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม (สปษ.โรม) –  5 พ.ย.66

ตกลง