รายงานสถานการณ์เกษตรในอิตาลีเดือนกุมภาพันธ์ 2567 (Situation report)
8 มี.ค. 2567
118
90
รายงานสถานการณ์เกษตรในอิตาลีเดือนกุมภาพันธ์
รายงานสถานการณ์เกษตรในอิตาลีเดือนกุมภาพันธ์ 2567 (Situation report)

อิตาลีมีการนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรจากไทยในปี 2566 คิดเป็นมูลค่า11,281.08 ล้านบาท ลดลง 22.22% เมื่อเทียบกับปี 2565 (มูลค่า 14,505.68 ล้านบาท) อิตาลีเป็นตลาดส่งออกทั่วโลกที่สำคัญของไทย อันดับที่ 21 ในหมวดสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และเป็นอันดับที่ 3 ในยุโรป (รองจากสหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์) เดือนมกราคม 2567 อิตาลีนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรจากไทยรวมมูลค่าทั้งสิ้น 1,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.04% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566 (มูลค่า 758.62 ล้านบาท) แบ่งเป็น
กลุ่มสินค้าเกษตร 677.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 133% โดยสินค้าเกษตรที่ส่งออกมากที่สุดคือ ปลาหมึกมีชีวิต สด/แช่แข็ง เพิ่มขึ้น 161.05% (280.55 ล้านบาท/817 ตัน) ยางพาราเพิ่มขึ้น 162.11% (258.78 ล้านบาท/4,471 ตัน) และข้าวเพิ่มขึ้น  64.74% (94.05 ล้านบาท/3,273 ตัน) และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 612.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.92%
ทั้งนี้ สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่ส่งออกมากที่สุดคือ อาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น 47.8% (498.05 ล้านบาท/2,862 ตัน) เครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 189.19% (31.58 ล้านบาท) อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูปลดลง 4.66% (31.33 ล้านบาท/329 ตัน) และผลไม้กระป๋อง/แปรรูปลดลง 32.25% (30.57 ล้านบาท/381 ตัน)

จากสถานการณ์วิกฤติในทะเลแดงที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2566 ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าและภาคการผลิตของอุตสาหกรรมในอิตาลี มีการชะลอการส่งออกสินค้าที่จะส่งไปยังแถบเอเชียและโอเชียเนียและการนำเข้าวัตถุดิบ/ส่วนประกอบที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร แฟชั่น และเฟอร์นิเจอร์ไม้ ที่ต้องใช้บริการขนส่งทางเรือผ่านคลองสุเอซ โดยธนาคารแห่งชาติอิตาลี (Banca d’Italia) ได้ประเมินมูลค่าการขนส่งทางเรือผ่านพื้นที่ดังกล่าวประมาณ 16% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าของอิตาลีทั้งหมด

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรอิตาลี ศูนย์วิจัยแนวโน้มการผลิตและการบริโภค (Divulga) รายงานว่าวิกฤติทะเลแดงอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรของอิตาลีซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าถึง 5.3 พันล้านยูโร ซึ่งในแต่ละปีอิตาลีมีการนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรจากภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียผ่านคลองสุเอซกว่า 3 ล้านตันหรือประมาณ 9% ของวัตถุดิบอาหารและเกษตรที่อิตาลีนำเข้าทั้งหมด โดยสินค้าเกษตรที่อิตาลีนำเข้าผ่านคลองสุเอซที่สำคัญได้แก่ ข้าว (67%) น้ำมันพืช (47%) มะเขือเทศแปรรูป (45%)
ชา/กาแฟ (35%) อาหารทะเลแช่แข็ง (14%) ถั่ว/ธัญพืช (11%) และอาหารสัตว์ (10%)

สถานการณ์วิกฤติในพื้นที่ทะเลแดง ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนและระยะเวลาการส่งมอบสินค้า
จากการเปลี่ยนเส้นทางอ้อมแหลมกู้ดโฮป ทวีปแอฟริกา ทำให้ระยะเวลาการขนส่งและค่าขนส่งเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารของอิตาลีที่มีมูลค่าถึง 5.5 พันล้านยูโร โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือสินค้าเกษตรเนื่องจากเป็นสินค้าที่มีข้อจำกัดของอายุการเก็บรักษา ทั้งนี้ มูลค่าการขนส่งสินค้าเกษตรและอาหารของอิตาลีเพื่อไปยังฝั่งตะวันออกผ่านช่องทางดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 4 พันล้านยูโร โดยเฉพาะสินค้าประเภทผักและผลไม้สด (มูลค่า 1 พันล้านยูโร) รองลงมา ได้แก่ พาสต้าและขนมอบ (800 ล้านยูโร) ขนมหวาน (400 ล้านยูโร) และไวน์ (500 ล้านยูโร) ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ต้นทุนในประเทศปลายทางเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อความสดใหม่ของผัก/ผลไม้ด้วย โดยอิตาลีส่งออกผัก/ผลไม้ไปยังแถบตะวันออกกลางประมาณ 150,000 ตัน และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 80,000 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 300 ล้านยูโร

ปัจจุบันอิตาลีประสบกับปัญหาต้นทุนการขนส่งทางเรือที่ปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เซ็นต์/กิโลกรัมหรือประมาณ 1,500 เหรียญสหรัฐ/ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของอิตาลี นอกจากนี้ สหกรณ์ด้านอาหารและเกษตรอิตาลี (Confcooperative Fedagripesca) รายงานว่า ความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลให้ระยะเวลาส่งมอบเพิ่มขึ้นอีกกว่า 20 วัน ส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกประมาณ 4-5 ตู้คอนเทนเนอร์หรือประมาณ 100 ตัน/สัปดาห์

ภาคอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรของอิตาลีถือเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทะเลแดงตลอดระยะเวลาเกือบ 4 เดือนผ่านมา ได้สร้างความกังวลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ ในวงกว้าง โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของสินค้าผักและผลไม้ Made-in-Italy ที่ต้องรักษาภาพลักษณ์สินค้าคุณภาพสูงที่มีความสดใหม่ ซึ่งปัจจุบันได้ประสบกับปัญหาความล่าช้าของการส่งมอบสินค้าและเสี่ยงต่อการสูญเสียส่วนแบ่งตลาด นอกจากนี้ สภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อที่สูง ส่งผลให้อัตราการบริโภคสินค้าอาหารและเกษตรลดลงอีก (โดยในปี 2566 มีการบริโภคลดลงแล้วเกือบ 5%) ทั้งนี้ หากการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไม่คุ้มหรือส่งออกไม่ได้ สินค้าเกษตรอาจล้นตลาดอิตาลี/ยุโรป และทำให้ราคาตลาดตกลง

ความเห็น สปษ.โรม สถานการณ์วิกฤติในพื้นที่ทะเลแดงและสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน กำลังส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานและพฤติกรรมการบริโภคในอิตาลี ที่อาจมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามกำลังซื้อ และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

ตกลง