รายงานดัชนีราคาอาหารโลกของ FAO ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567
12 มี.ค. 2567
20
26
รายงานดัชนีราคาอาหารโลกของ FAO ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567
รายงานดัชนีราคาอาหารโลกของ FAO ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567

FAO เผยดัชนีราคาอาหารโลกโดยรวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปรับตัวลดลง - เส้นทางเดินเรือใหม่ช่วยลดแรงกดดันในตลาดธัญพืช แต่ข้อกังวลจากฝนแล้งในบราซิลและไทย ยังส่งผลให้ราคาน้ำตาลโลกสูงอย่างต่อเนื่อง

แหล่งข้อมูล FAO 2567 รายงาน Food Price Index ประจำเดือนมีนาคม 2567
เว็บไซต์ FAO Food Price Index เผยแพร่ 8 มีนาคม 2567

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานข้อมูลดัชนีราคาอาหารโลก (FAO Food Price Index: IFFI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ 117.3 จุด ลดลง 0.9 จุด (หรือ 0.7%) จากเดือนมกราคม 2567 หรือลดลง 13.8 จุด (หรือ 10.5%) เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา

ดัชนีราคาธัญพืชของ FAO ในเดือนกุมภาพันธ์ เฉลี่ยอยู่ที่ 113.8 จุด ต่ำกว่าเดือนมกราคม 6.1 จุด (5%) และอยู่ที่ 32.9 จุด (22.4%) ซึ่งต่ำกว่าเมื่อเทียบกับราคาในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา ราคาธัญพืชหลักๆ ในตลาดโลกยังคงลดลงเมื่อเทียบกันเดือนก่อนหน้า เช่น ราคาส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ร่วงลงมาก มีปัจจัยจากปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ดีในอาร์เจนติน่าและบราซิล และการเปิดเส้นทางเดินเรือทะเลใหม่ตาม Humanitarian Corridor ที่เอื้อให้การขนส่งธัญพืชจากยูเครนสู่ตลาดโลกได้ราบรื่นขึ้น เช่นเดียวกับราคาตลาดข้าวสาลีที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณการส่งออกที่มาจากรัสเซียจำนวนมาก รวมถึงราคาข้าวฟ่างและบาร์เล่ย์ที่ลดลงด้วย สำหรับราคาข้าว ลดลง 1.6% ในเดือนกุมภาพันธ์ แม้ว่าจะมีความต้องการซื้อจากอินโดนีเซีย แต่ปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวใหม่ ทำให้ความต้องการนำเข้าข้าวยังคงชะลอตัว

 

ดัชนีราคาน้ำมันพืช ของ FAO เฉลี่ยอยู่ที่ 120.9 จุดในเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 1.6 จุด (1.3%) เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และต่ำกว่า 15.0 จุด (11%) เมื่อเทียบกับราคาในเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากราคาถั่วเหลือง เมล็ดดอกทานตะวัน และเรพซีดในตลาดโลกที่ปรับตัวลงมากกว่าราคาน้ำมันปาล์มที่สูงขึ้น โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ราคาน้ำมันถั่วเหลืองร่วงลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้มากในอเมริกาใต้ ส่วนราคาของน้ำมันจากเมล็ดดอกทานตะวันและเรพซีดที่ลดลง สะท้อนให้เห็นถึงอุปทานที่ยังมีเพียงพอ ในทางกลับกัน ราคาของน้ำมันปาล์มในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ในประเทศผู้ผลิตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดน้อยลง

  ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์นมของ FAO เฉลี่ยอยู่ที่ 120 จุดในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 1.3 จุด (1.1%) จากเดือนมกราคม แต่ยังต่ำกว่า 18.6 จุด (13.4%) เมื่อเทียบกับราคาในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยราคาเนยเพิ่มขึ้นมากที่สุด ซึ่งได้แรงหนุนจากความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมาจากตลาดเอเชีย ประกอบกับปริมาณการผลิตในโอเชียเนียที่ลดลง ในขณะที่ราคานมผงในยุโรปลดลง แต่ทิศทางราคายังปรับตัวสูงขึ้นช้าๆ โดยได้แรงหนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดจีน ทั้งนี้ ผลกระทบจากสถานการณ์ในทะเลแดง ทำให้การขนส่งทางทะเลต้องใช้เวลานานขึ้นและมีค่าระวางเพิ่มขึ้น ทำให้ราคานมผงและนมผงพร่องมันเนย (SMP) ในตลาดโอเชียเนียปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งส่งผลให้ตลาดเนยแข็ง/ชีสในเอเชียที่ปรับราคาสูงขึ้นตามความต้องการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าจากยุโรปที่มีสต๊อกสินค้าลดลง

ดัชนีราคาเนื้อสัตว์ของ FAO เฉลี่ยอยู่ที่ 112.4 จุด ในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 2 จุด (1.8%) จากเดือนมกราคม 2567 ซึ่งเป็นการปรับราคาขึ้นครั้งแรกหลังจากที่ราคาลดลง 7 เดือนติดต่อกัน แต่ราคายังต่ำกว่า 0.9 จุด (0.8%) เมื่อเทียบกับราคาในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยราคาของเนื้อสัตว์ปีกปรับตัวขึ้นมากที่สุด รองลงมาคือเนื้อวัว ซึ่งได้แรงหนุนจากความต้องการตลาดที่มากขึ้น เนื่องจากปริมาณสต๊อกเนื้อวัวในออสเตรเลียที่ลดลงเกินการคาดการณ์ของตลาดหลังจากต้องเผชิญปัญหาฝนตกหนักซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสัตว์ ในขณะที่ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการตลาดในจีนและตลาดยุโรปตะวันตก เพื่อชดเชยปริมาณสต๊อกที่มีจำกัด อย่างไรก็ดี ราคาเนื้อแพะ/แกะในตลาดระหว่างประเทศปรับตัวลดลง เนื่องจากตลาดจีนชะลอการนำเข้า และปริมาณการผลิตของออสเตรเลียเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ดัชนีราคาน้ำตาลของ FAO เฉลี่ยอยู่ที่ 140.8 จุดในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 4.4 จุด (3.2%) จากเดือนมกราคม และราคาสูงขึ้น 15.6 จุด (12.5%) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันเมื่อปีก่อน โดยราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของตลาดที่ยังคงมีต่อแนวโน้มผลผลิตที่อาจลดลงเนื่องจากสภาพอากาศและภาวะฝนแล้งในบราซิลและไทย ซึ่งประเทศผู้ส่งออกหลักของโลก รวมถึงการจำกัดการส่งออกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอลในประเทศของอินเดีย  

 

แปลและเรียบเรียงโดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม (สปษ.โรม) –  15 มี.ค.67

ตกลง