รายงานสถานการณ์เกษตรในอิตาลีเดือนมีนาคม 2567 (Situation report)
10 เม.ย. 2567
121
8
รายงานสถานการณ์เกษตรในอิตาลีเดือนมีนาคม 2567 (Situation report)
รายงานสถานการณ์เกษตรในอิตาลีเดือนมีนาคม 2567 (Situation report)

1.1  สถิติการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยในอิตาลี

สถิติการค้า อิตาลีมีการนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรจากไทยช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2567 คิดเป็นมูลค่า 2,731.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.34% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2566 (มูลค่า 1,603.32 ล้านบาท) อิตาลีเป็นตลาดส่งออกทั่วโลกที่สำคัญของไทย อันดับที่ 21 ในหมวดสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และเป็นอันดับที่ 3 ในยุโรป (รองจากสหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์) แบ่งเป็น

     -กลุ่มสินค้าเกษตรกรรม มูลค่า 1,481.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 99.71% โดยสินค้าเกษตรที่ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ ข้าว โดยมูลค่าเพิ่มขึ้น  154.01% ( 330.57 ล้านบาท/11,100 ตัน) ยางพารา มูลค่าเพิ่มขึ้น 147.74% (509.10 ล้านบาท/8,773 ตัน) และปลาหมึกมีชีวิต สด/แช่แข็ง มูลค่าเพิ่มขึ้น 58.77% (538.98 ล้านบาท/1,551 ตัน)

     -กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร  มูลค่า 1,249.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.05%  โดยสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยงมูลค่าเพิ่มขึ้น 72.43% (1,000.91 ล้านบาท/5,681 ตัน) อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูปมูลค่าลดลง 12.50% (73.01 ล้านบาท/698 ตัน) และผลไม้กระป๋อง/แปรรูปมูลค่าลดลง 31.32% (62.55 ล้านบาท/842 ตัน)

1.2 สถานการณ์ด้านการเกษตรในอิตาลี

    สถิติการค้าเดือนมกราคม 2567 อิตาลีส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น 14% (ข้อมูลจาก ISTAT) เทียบกับเดือนมกราคม 2566 แม้ในสถานการณ์ที่มีความตึงเครียดระหว่างประเทศจากสงครามและ การปิดล้อมการขนส่งสินค้าในทะเลแดง ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มของการส่งออกสินค้าทั่วไปของอิตาลีที่มีอัตราการส่งออกลดลง 0.2% โดยตลาดส่งออกสำคัญของอิตาลีได้แก่ สหรัฐอเมริกา ( 31%) สหราชอาณาจักร ( 26%) เยอรมนี ( 9%) และฝรั่งเศส ( 3%)  ในขณะที่ตลาดที่มีอัตราการส่งออกที่น่าจับตามองคือ จีน ( 52%) และรัสเซีย( 14%) ภาคอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรของอิตาลียังคงเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญมาก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ คิดเป็น 1 ใน 4 ของ GDP ของอิตาลี ทั้งนี้ ในปี 2566 มีการส่งออกมูลค่ารวมกว่า 64 พันล้านยูโร ( 6% เทียบกับปี 2565) และยังเป็นประเทศที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์และจำนวนฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่มากที่สุดในสหภาพยุโรป โดยอิตาลีมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั้งหมด 2.3 ล้านเฮกเตอร์ (18.7%) ของพื้นที่เพาะปลูกในประเทศ โดยมีผู้ประกอบการ 92,799 ราย)

สถานการณ์สินค้าที่ได้รับ GI ในอิตาลี

สินค้าเกษตรและอาหาร GI ในอิตาลีและยุโรปแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

1. DOP (Denominazione d’Origine Protetta) หรือในภาษาอังกฤษ Protected Designation of Origin (PDO) หมายถึงสินค้ามีกระบวนการผลิตและแปรรูปในพื้นที่ภูมิประเทศนั้นๆ เช่น ชีส Parmigiano Reggiano หรือ น้ำมันมะกอกของอิตาลี

2. IGP (Indicazione Geografica Protetta) หรือในภาษาอังกฤษ Protected Geographical Indication (PGI) หมายถึงสินค้ามีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และมีการผลิต หรือ
ผ่านกระบวนการหรือการเตรียม อย่างน้อย 1 ขั้นตอนเกิดขึ้นในพื้นที่ภูมิศาสตร์นั้นเช่น Aceto Balsamico di Modena

3. STG (Specialità Tradizionale Garantita) หรือในภาษาอังกฤษ Traditional Speciality Guaranteed (TSG) ซึ่งรับประกันผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในระดับชุมชนแบบดั้งเดิมที่มีความจำเพาะโดยเฉพาะกรรมวิธีในการผลิตความชำนาญพิเศษที่มีมาอย่างยาวนานที่ได้รับการยอมรับของชุมชนมาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 25 ปี เช่น Mozzarella จากแคว้น Campagnia

ปัจจุบัน อิตาลีมีผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการรับรองแหล่งกำเนิดและข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในยุโรปรวมจำนวน 853 รายการ แบ่งเป็นไวน์ 527 รายการและอาหาร 326 รายการ คิดเป็นมูลค่า 20.2 พันล้านยูโร หรือ 25% ของมูลค่า DOP Economy ในยุโรป และอิตาลียังเป็นผู้ผลิตข้าว ข้าวสาลีดูรัม และผักหลายชนิดที่ใช้ในการประกอบอาหารเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Diet) ได้แก่ มะเขือเทศ มะเขือยาว อาร์ติโชค (Artichoke) ชิโครี (Chicory) เอนไดฟ์ (Endive) คื่นฉ่าย (Celery) และ Fennel รายใหญ่ของยุโรป และเป็นผู้ผลิตผลไม้สำคัญ ได้แก่ แอปเปิ้ล ลูกแพร์ เชอร์รี่ องุ่น กีวี ไปจนถึงถั่วเฮเซลนัทและเกาลัด ดังนั้น อิตาลีจึงถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของยุโรป

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปได้อนุมัติกฎระเบียบใหม่ว่าด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (DOP/IGP) ด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่เกือบ 90% เพื่อคุ้มครองและปราบปรามการเลียนแบบสินค้า DOP/IGP
ที่ได้รับความคุ้มครองในสหภาพยุโรป สำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร ไวน์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ ให้ระบุชื่อบริษัทผู้ผลิตบนฉลากอย่างชัดเจนเพื่อแสดงถึงประเทศที่มาและห้ามจดทะเบียนชื่อที่คล้ายหรือชื่อที่จะทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ DOP/IGP ที่ได้รับความคุ้มครองแล้วในยุโรป เช่น ไวน์ Prosek ของโครเอเชีย ที่มีชื่อคล้ายกับ ไวน์ Prosecco ของอิตาลี หรือน้ำส้มสายชู Aceto Balsamico จากสโลเวเนียและไซปรัส ที่มีชื่อคล้ายกับ Aceto Balsamico ของ Modena IGP อิตาลี นอกจากนี้ ยังรวมถึงการจำกัดการเข้าถึงเวบไซต์ (Geoblocking system) ของผลิตภัณฑ์เลียนแบบด้วย โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 ทั้งนี้ การต่อสู้เพื่อปกป้องสินค้าเลียนแบบ DOP/IGP มีมานานแล้ว โดยสมาพันธ์เกษตรกรอิตาลี (Coldiretti) รายงานว่าสินค้าเลียนแบบสินค้าDOP/IGP มีมูลค่าหมุนเวียนในตลาดโลกถึง 120 พันล้านยูโร รัฐบาลอิตาลีจึงเร่งส่งเสริมสินค้า DOP/IGP ทั้งในด้านการผลิตและด้านคุณค่าและยิ่งไปกว่านั้นคือการปกป้องความเป็นอัตลักษณ์ของสินค้าชุมชนในประเทศ รวมไปถึงการจ้างงานและความยั่งยืนของสินค้า

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยสหกรณ์การเกษตรของอิตาลี (ISMEA-Qualivita) ได้นำเสนอข้อมูลสินค้า DOP/IGP ของอิตาลีในปี 2565  โดยมีมูลค่าการผลิต 20.2 พันล้านยูโร ( เพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบกับปี 2564) คิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารในอิตาลี และเป็นอันดับหนึ่งในยุโรป (25%) ตามด้วย ฝรั่งเศสและสเปน โดยสินค้า DOP/IGP ของอิตาลีมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 11.6 พันล้านยูโร ( 8.3%) มีผู้ประกอบการ 195,407 รายในห่วงโซ่อุปทานอาหารและไวน์ จ้างงาน 890,000 คน และสมาคมที่เกี่ยวข้อง 296 สมาคม

ทั้งนี้ มูลค่าการผลิตในภาคส่วน DOP Economy คิดเป็นสัดส่วนสำคัญ มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมามีมูลค่าการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองต่างๆ ในประเทศ สินค้า DOP/IGP ที่มีมูลค่าการผลิตมากที่สุด 5 อันดับแรกของอิตาลี ได้แก่ สินค้าชีส Parmigiano Reggiano DOP จากบริเวณพื้นที่แคว้น Lombardia และ Emilia – Romagna ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี สินค้าชีสGrana Padano DOP จาก 5 แคว้น ได้แก่ Piemonte, Lombardia, Veneto, Emilia Romagna และ Trentino Alto Adige สินค้าแฮม Prosciutto di Parma DOP จากเมือง Parma สินค้าชีส Mozzarella di Bufala Campana DOPจากแคว้น Campania, Lazio, Puglia และ Molise และสินค้าน้ำส้มสายชูบัลซามิกของ Modena IGP จากเมือง Modena และ Reggio Emilia ทั้งนี้ คนอิตาเลียน 90% ยอมจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับสินค้าที่ทราบแหล่งที่มาและตรวจสอบย้อนกลับได้

ปัจจุบันไทยมีผลิตภัณฑ์ GI จำนวน 122 รายการและมี 4 รายการที่ได้รับการการขึ้นทะเบียน GI ในสหภาพยุโรป ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง กาแฟดอยตุงเชียงรายและกาแฟดอยช้าง และอีก 2 รายการได้แก่ มะพร้าวน้ำหอมราชบุรีและไวน์เขาใหญ่ที่รอการอนุมัติ โดยในปี 2567 ประเทศไทยวางแผนที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 20 รายการให้ครบ 77 จังหวัด โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์ GI เป็น 6 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์ GI ที่ขึ้นทะเบียนล่าสุด ได้แก่ อะโวคาโดตาก ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องเนื้อสัมผัสเหนียว รสชาติเข้มข้น และกลิ่นหอม ผลิตภัณฑ์ IG  ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและการเกษตรของไทยที่มีคุณค่า

ข้อคิดเห็น สปษ.โรม ผลิตภัณฑ์ GI ของไทยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพและคุณค่า ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและการเกษตรที่สามารถส่งเสริมอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยระบบความคุ้มครอง GI เป็นอีกกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเกษตรกรซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจฐานราก ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชนผ่านอัตลักษณ์ของสินค้า ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิต การจ้างงาน และสร้างความยั่งยืนระดับชุมชนได้ จึงเห็นควรผลักดันและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ GI ให้เข้าสู่ระดับสากลมากยิ่งขึ้น

 

ตกลง