แจ้งเตือนศัตรูพืชระบาด “เพลี้ยหอยเกล็ดในมันสำปะหลัง” (Lesser snow scale, hibiscus snow scale) วันที่ 15 เมษายน 2563
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในมันที่เพิ่งปลูกใหม่ อายุ ๑ - ๓ เดือน เนื่องจากช่วงนี้ฝนทิ้งช่วง สภาพอากาศแห้ง ให้ระวังการระบาดของเพลี้ยหอยเกล็ดขาว ดูดกินน้ำเลี้ยงที่บริเวณลำต้น ก้านใบ และหลังใบมันสำปะหลัง ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบเพลี้ยหอยเกล็ดขาวในแปลงมันสำปะหลังให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตร จังหวัดใกล้บ้าน เพื่อหาแนวทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pinnaspis strachani (Cooley) วงศ์ : Diaspididae อันดับ : Hemiptera รูปร่างลักษณะ ตัวเต็มวัยเพศเมีย มีลักษณะเกล็ดสีขาวนูนยาว ๑.๘ – ๒.๕ มิลลิเมตร ตัวอ่อนวัยที่ ๒ ของเพศผู้ลักษณะคล้าย เพศเมียแต่ขนาดเล็กและแคบกว่า ยาว ๑ – ๑.๕ มิลลิเมตร เพศผู้จะเข้าดักแด้และออกมาเป็นตัวเต็มวัยที่มีปีก ๑ คู่ เพื่อรอผสมพันธุ์กับเพศเมีย ลักษณะการทำลาย ทำความเสียหายให้แก่พืชในระยะที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ส่วนใหญ่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากลำต้นพบเข้าทำลาย ตามโคนต้นและแพร่ขยายปริมาณไปตามลำต้นและส่วนยอดทำให้มีการเจริญเติบโตช้า ส่วนของพืชที่ถูกทำลาย: หัว ลำต้น ยอด ใบ กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. แช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารเคมี ดังนี้
- ไทอะมีโธแซม อัตรา ๔ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
- อิมิดาโคลพริด อัตรา ๔ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
๒. หมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
๓. หากพบระบาดให้ตัดแต่งกิ่งที่พบเพลี้ยหอยเข้าทำลายแล้วทำการพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลง ดังนี้
- ซัลฟอกซาฟลอร์(sulfoxaflor ๕๐% WG) อัตรา ๑๒ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
- สไปโรเตตระแมท (spirotetramat ๑๕% OD) อัตรา ๑๕ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
- บูโพรเฟซิน (buprofezin ๒๕% WP) อัตรา ๑๕ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือหากใช้สูตร ๔๐% SC ใช้อัตรา ๒๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
- มาลาไทออน (malathion ๘๓% EC) อัตรา ๓๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือถ้าใช้สูตร ๕๗% EC ใช้อัตรา ๕๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
- ไดอะซินอน (diazinon ๖๐% EC) อัตรา ๕๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร โดยใช้อัตราการพ่นสารดังนี้
- มันสำปะหลังอายุ ๑ – ๓ เดือน ใช้น้ำไร่ละ ๖๐ – ๘๐ ลิตร ต่อไร่
- มันสำปะหลัง อายุ ๔ – ๘ เดือน ใช้น้ำไร่ละ ๘๐ – ๑๐๐ ลิตร ต่อไร่