รายการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบเกษตรกร วันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2567 โดย สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอำนาจเจริญ และศูนย์เมล็ดข้าวอำนาจเจริญ
5 เม.ย. 2567
82
0
รายการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบเกษตรกร
รายการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบเกษตรกร วันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2567 โดย สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอำนาจเจริญ และศูนย์เมล็ดข้าวอำนาจเจริญ

          วันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2567 เวลา 09.10-10.00 น. นายชาญวิทย์ ธานี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ มอบหมาย ให้ กลุ่มสารสนเทศการเกษตร น.ส.ปิยะพร สุริโยตระกูล, นายธนกฤต เนื้ออ่อนดำเนินรายการวิทยุ รายการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบเกษตรกร ร่วมกับ น.ส. กรานต์นิภา ไชยราช นักวิชาการปฎิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอำนาจเจริญ และ น.ส.วรณัน สีหะหยัก เจ้าหน้าที่โครงการพระราชดำริ และน.ส.จุลาลักษณ์ คนไว เจ้าหน้าที่โครงการแปลงใหญ่ ศูนย์เมล็ดข้าวอำนาจเจริญ ณ สวท.อำนาจเจริญ นำเสนอเรื่องราวข่าวสารโครงการกิจกรรม ดังนี้

          1. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอำนาจเจริญ
เตือนภัยการผลิตพืช ในช่วงฤดูร้อน ให้ระวังโรคแส้ดำที่เกิดจากเชื้อรา มักจะพบในอ้อยปลูกใหม่แตกกอ โรคไรแดงในมันสำปะหลัง และเพลี้ยไฟพริก

          โรคแส้ดำ มีลักษณะคล้ายแส้ยาวสีดำ เกิดจากเชื้อราสาเหตุโรคสร้างสปอร์สีดำจำนวนมาก รวมตัวกันแน่นอยู่ภายในเนื้อเยื่อผิวของใบยอดสุดที่ม้วนอยู่ ระยะแรกจะมีเยื่อหุ้มบาง ๆ สีเทาหุ้มแส้ดำไว้ และเยื่อหุ้มจะแตกออกเมื่อมีการสร้างสปอร์จำนวนมาก ทำให้เห็นมีลักษณะคล้ายแส้สีดำตั้งตรงหรือม้วนงอ ส่งผลให้ต้นอ้อยแคระแกร็น ลำผอมยาว ข้อสั้น ใบแคบเล็ก แตกกอจำนวนมาก เมื่ออาการรุนแรงอ้อยจะแห้งตาย  แนวทางป้องกัน แก้ไข ใช้พันธุ์ต้านทานโรค เลือกใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่ไม่มีการระบาดของโรคแส้ดำและเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้ แช่ท่อนพันธุ์ในสารป้องกันกำจัดโรคพืช ไตรอะดิมีฟอน 25% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรพิโคนาโซล 25% EC อัตรา 16 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร แช่นาน 30 นาทีก่อนปลูก และหมั่นตรวจแปลงอ้อยอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการโรค ให้รีบตัดส่วนที่เป็นแส้ดำ โดยระวังไม่ให้สปอร์ฟุ้งกระจาย และนำไปทำลายนอกแปลงทันที ในกรณีที่ต้นยังเล็กให้ขุดกอที่แสดงอาการโรคออกทั้งกอ เนื่องจากตัดเฉพาะส่วนที่เป็นแส้ดำออก อาจจะยังมีอาการแส้ดำขึ้นมาได้อีกภายในกอนั้น หากพบการระบาดของโรครุนแรง ควรไถรื้อแปลง กำจัดกออ้อยออกจากแปลงให้หมด และปลูกพืชชนิดอื่นแทน หรือปลูกพืชบำรุงดิน เช่น ปอเทือง พืชตระกูลถั่ว เพื่อตัดวงจรชีวิตของเชื้อสาเหตุโรค

           โรคไรแดงในมันสำปะหลัง จากสภาพอากาศแห้งแล้งในช่วงนี้ ขอให้เฝ้าระวังการระบาดของไรแดงหม่อนสามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง ไรแดงหม่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำลายอยู่ ใต้ใบแก่และใบเพสลาด หากระบาดรุนแรง ตัวไรจะเคลื่อนย้ายไปดูดกินน้ำเลี้ยงบนยอดอ่อน โดยสร้างเส้นใยปกคลุมใบและลำต้น เมื่อไรเริ่มลงทำลายต้นมันสำปะหลัง จะสังเกตเห็นรอยทำลายเป็นจุดประด่างเหลืองบนผิวด้านบนใบ หากไรเข้าทำลายรุนแรง จะทำให้ใบไหม้ ตรงกลางใบขาดพรุน ใบลู่ลง และเหี่ยวแห้ง กรณีไรแดงหม่อนลงทําลายในต้นมันสําปะหลังที่มีอายุ 1-3 เดือน อาจทําให้ใบร่วง ยอดแห้ง และตายได้
           แนวทางป้องกัน แก้ไข เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงปลูกมันสำปะหลังอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการปลูกมันสําปะหลังในช่วงที่มีสภาพอากาศแห้งแล้ง ถ้าพบระบาดของไรแดงหม่อน ให้เกษตรกรเก็บใบมันสําปะหลังและส่วนที่เป็นโรคนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก สำหรับในพื้นที่ที่มีการระบาดของไรแดงหม่อนอย่างรุนแรง ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าไรที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด ได้แก่ สารไพริดาเบน 20% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ20 ลิตร หรือสารเฟนบูทาทินออกไซด์ 55% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารสไปโรมีซิเฟน 24% เอสซี อัตรา 6 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเตตระไดฟอน 7.25% อีซี อัตรา 50 มิลิลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยควรพ่นสลับชนิดสารเพื่อป้องกันการต้านทานสารฆ่าไร และไม่ควรพ่นสารชนิดเดียวกันติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง

          เพลี้ยไฟพริก ที่มักจะพบการระบาดในช่วงที่มีสภาพอากาศแห้งแล้ง โดยจะมีตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยไฟพริกมาดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอด ใบอ่อน ตาดอก และดอก ทำให้ใบ ยอดอ่อนหงิก ขอบใบหงิกหรือม้วนขึ้นด้านบน ถ้าเข้าทำลายระยะพริกออกดอกจะทำให้ดอกร่วงไม่ติดผล เข้าทำลายในระยะผล จะทำให้รูปทรงของผลบิดงอ และถ้าการระบาดรุนแรงพืชจะชะงักการเจริญเติบโต หรือแห้งตายในที่สุด
          แนวทางป้องกัน/แก้ไข ให้เกษตรกรสุ่มสำรวจพริก 100 ยอดต่อไร่ทุกสัปดาห์ โดยเคาะลงบนแผ่นพลาสติกสีดำ   เมื่อพบเพลี้ยไฟพริกเฉลี่ยมากกว่า 5 ตัวต่อยอด ให้ทำการป้องกันกำจัดขั้นต้นควรเพิ่มความชื้นโดยการให้น้ำ อย่าปล่อยให้ขาดน้ำ เพราะจะทำให้พืชอ่อนแอ และเพลี้ยไฟพริกจะระบาดอย่างรวดเร็ว หากพบการระบาดให้ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพ เช่น สไปนีโทแรม 12% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซแอนทรานิลิโพรล 10% OD อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ขณะฉีดพ่นสารควรปรับหัวฉีดให้เป็นฝอยที่สุด และพ่นให้ทั่วตามส่วนต่างๆของพืชที่เพลี้ยไฟพริกอาศัยอยู่ กรณีระบาดรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาพอากาศแห้งแล้ง ควรให้ปุ๋ยทางใบ เพื่อช่วยให้ต้นพริกฟื้นตัวจากอาการ ใบหงิกได้ดีและเร็วยิ่งขึ้น.
          ผู้สนใจสอบถามความรู้ด้านพืช ติดต่อสอบถามได้ที่ 045 525 756 ในวันเวลาราชการ

          2. ศูนย์เมล็ดข้าวอำนาจเจริญ
           เตือนภัยผู้แอบอ้างขายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพต่ำไม่ได้มาตรฐาน ด้วยความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวของกรมการข้าวมีปริมาณมาก จึงเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพ ฉวยโอกาสแอบอ้างจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยมีการปลอมแปลงกระสอบเมล็ดพันธุ์ข้าว และบัตรแสดงคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมถึงข้าวไม่ตรงตามสายพันธุ์ที่ผลิต จึงขอให้เกษตรกรระมัดระวังในการเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์

           การส่งเสริมเกษตรกรรวมกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว เพื่อการบริหารจัดการให้เกิดการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และการบริหารจัดการแปลง ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การบำรุงรักษา การพัฒนาคุณภาพ และการเก็บเกี่ยว ไปจนถึงด้านการตลาด ได้ ผลผลิตข้าวคุณภาพ ปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี และลดการเผา

          ประชาสัมพันธ์ การจำหน่ายเล็ดพันธุ์ข้าว พันธุ์ข้าวขาวดอมะลิ 105 ชั้นพันธุ์ขยาย บรรจุ 26 กก.ราคา 650 บาท ชั้นพันธุ์จำหน่าย บรรจุ 25 กก. ราคา 625 บาท และพันธุ์ข้าว กข15 ชั้นพันธุ์ขยาย บรรจุ 26 กก. ราคา 650 บาท ทั้งนี้ถ้าซื้อตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไปได้ส่วนลด 5 เปอร์เซ็นต์ และซื้อตั้งแต่ 500,000 บาทขึ้นไปได้ส่วนลด 8 เปอร์เซ็นต์ และให้นำบัตรประชาชนมาด้วยทุกครั้ง สนใจ ติดต่อสอบถาม โทร 045 525 677 หรือ 086 3318 505 ในวันเวลาราชการ

ตกลง