กรมประมงเตือน...!! เกษตรกรเฝ้าระวัง โรคสัตว์น้ำในช่วงฤดูฝน
13 ก.ย. 2565
29
0
กรมประมงเตือน...!!เกษตรกรเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำในช่วงฤดูฝน
กรมประมงเตือน...!! เกษตรกรเฝ้าระวัง โรคสัตว์น้ำในช่วงฤดูฝน

ด้วยขณะนี้ สภาพอากาศของประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน โดยในหลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกชุกอย่างต่อเนื่องทำให้สภาวะอากาศ อุณหภูมิและออกซิเจนในน้ำมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน ส่งผลให้สัตว์น้ำทั้งที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติและที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ในบ่อหรือในกระชังอาจจะปรับตัวไม่ทัน เกิดความเครียด อ่อนแอ เสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ง่าย และอาจตายได้อย่างฉับพลัน ทั้งนี้ กรมประมง ได้มีการจัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยด้านประมง ประจำปี 2564 เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ไว้ 3 ระยะ คือ 1.การดำเนินการก่อนการเกิดภัย 2.การดำเนินการขณะเกิดภัย และ 3. การดำเนินการหลังการเกิดภัย

กรมประมง จึงขอให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเตรียมการเฝ้าระวัง ป้องกัน และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้

1. วางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาล เพื่อให้สามารถจับได้ก่อนฤดูน้ำหลาก

2. ทยอยจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อเป็นการลดปริมาณสัตว์น้ำภายในบ่อ เพื่อลดความสูญเสียให้มากที่สุด

3. ปรับปรุงคันบ่อและเสริมคันบ่อให้สูงพอกับปริมาณน้ำที่เคยท่วมในปีที่ผ่าน ๆ มา

4. จัดทำร่องระบายน้ำ และขุดลอกตะกอนดินที่จะทำร่องระบายน้ำตื้นเขินออกไปเพื่อให้น้ำไหลเข้าออกได้อย่างสะดวก

5. ควบคุมการใช้น้ำและรักษาปริมาณน้ำในที่เลี้ยงสัตว์น้ำให้มีปริมาณพอเหมาะหรือ มีปริมาณ 2 ใน 3 ส่วนของน้ำที่มีอยู่ในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ

6. จัดเตรียมปูนขาวไว้สำหรับพื้นที่ดินกรด ดินเปรี้ยว เพื่อปรับสภาพน้ำในบ่อหลังน้ำท่วมประมาณ 50 – 60 กิโลกรัมต่อไร่

7. จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น อวน เครื่องสูบน้ำ เครื่องเพิ่มออกซิเจน ยาปฏิชีวนะ สารเคมี ไว้ให้พร้อม

8. ควรหมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ หากพบสิ่งผิดปกติให้รีบหาสาเหตุพร้อมดำเนินการแก้ไขทันที

9. กรณีการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง ควรหมั่นตรวจสอบดูแลความคงทนแข็งแรงของกระชังอยู่เสมอและควรจัดวางกระชังให้มีระยะห่างกันพอสมควร เพื่อให้น้ำมีการหมุนเวียนถ่ายเทสะดวก

อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโรคสัตว์น้ำที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน และเกษตรกรควรเฝ้าระวัง สำหรับโรคที่เกิดในปลา และโรคที่เกิดในกุ้ง ได้แก่

1. โรคที่เกิดจากปรสิต ที่พบได้ในปลา เช่น เห็บระฆัง ปลิงใส และหมัดปลา ซึ่งจะทำให้ปลามีอาการผิดปกติ เช่น ซึม ว่ายน้ำทุรนทุราย ลอยตัวที่ผิวน้ำ กระพุ้งแก้มเปิดปิดเร็วกว่าปกติ กินอาหารน้อยลง ผอม ขับเมือกออกมามาก มีแผลเลือดออกที่ลำตัว เป็นต้น ซึ่งสามารถกำจัดปรสิตในปลาได้ โดยใช้ฟอร์มาลีน 25 – 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1 ตัน แช่ตลอด เปลี่ยนถ่ายน้ำและทำซ้ำ 2 – 3 ครั้ง หรือใช้ด่างทับทิม 1 – 2 กรัมต่อน้ำ 1 ตัน

2. โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย ได้แก่ โรคแผลตามลำตัว โรคตัวด่าง พบได้ในปลาและเกิดจากแบคทีเรียกลุ่ม แอโรโมแนส, วิบริโอ, เอ็ดเวิร์ดเซลลาร์ , ฟลาโวแบคทีเรียม เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ปลามีอาการ ซึม มีแผลที่ลำตัว ไม่กินอาหาร ตกเลือดที่ลำตัวและครีบ ตัวด่างขาวที่ลำตัว สีซีดหรือเข้มผิดปกติ และทยอยตาย ถ้าปลาขนาดเล็กอาจมีอัตราการตายสูงมาก หากพบปลามีอาการดังกล่าว ควรนำมาตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อตรวจสอบหาชนิดของแบคทีเรีย และผลการทดสอบความไวต่อยาต้านจุลชีพที่จะให้ ให้เหมาะสมกับชนิดของแบคทีเรียก่อนการนำยาไปใช้เพื่อยับยั้งการเกิดโรค

3. โรคไวรัส เช่น โรค ทีไอแอลวี พบเกิดขึ้นในปลาจากเชื้อไวรัสชื่อ ทิลาเบียเลคไวรัส (ทีไอแอลวี) จะทำให้ปลามีอาการผิดปกติ เช่น สีตัวเข้มหรือซีดผิดปกติ ว่ายน้ำผิดปกติ มีแผลที่ลำตัว และมีอัตราการตายสูง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีไวรัสอีกหลายชนิดที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคในกุ้งขาว และกุ้งก้ามกราม โดยสัตว์น้ำที่ได้รับเชื้อไวรัสจะมีอาการแตกต่างกันออกไปตามชนิดของเชื้อ แต่อาการโดยรวม คือไม่กินอาหาร อัตราการตายสูง การป่วยด้วยเชื้อไวรัสในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาและสารเคมี เกษตรกรจึงควรป้องกันและให้ความสำคัญในการบริหารจัดการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีและมีความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อลดอัตราความเสี่ยงและช่องทางในการรับเชื้อ

4. โรคน๊อคน้ำ ส่วนใหญ่พบเกิดขึ้นในปลา เนื่องจากคุณภาพของน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน เช่น อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว ออกซิเจนต่ำ ความเป็นกรด – ด่าง ต่ำ เกิดจากฝนตกชะล้างความเป็นกรดจากดินสู่น้ำ และความขุ่นในน้ำมากขึ้นหรือมีตะกอนแขวนลอยในน้ำสูง เป็นต้น ทำให้ปลามีอาการลอยหัว เปิด - ปิด กระพุ้งแก้มเร็ว เนื่องจากภาวะออกซิเจนหรือตะกอนในน้ำไปทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนของเหงือกลดลง จึงทำให้ปลาตายอย่างกระทันหัน โรคนี้ไม่มีทางรักษาแต่เกษตรกรสามารถเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมประมง ได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเตรียมเฝ้าระวัง ป้องกันและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ ตามแผนเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยด้านการประมง ประจำปี 2564 เพื่อให้สามารถใช้เป็นแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์ได้ทันท่วงที

เกษตรกรควรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด และหากมีปัญหาในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคสัตว์น้ำที่พบ สามารถขอคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ทุกแห่งทั่วประเทศ และกองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 02-561-3381

ตกลง