เจาะตลาดพรีเมี่ยมญี่ปุ่นด้วยสินค้าเกษตร GI โอกาสทองของไทยบนเวทีเศรษฐกิจโลก
“สับปะรดห้วยมุ่น” ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication:) GI กับญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 นับเป็นสินค้าเกษตรไทยรายการที่ 3 ที่ได้รับการรับรอง GI จากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น (MAFF) ต่อจากกาแฟดอยช้างและกาแฟดอยตุง ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญของสินค้าไทยในการเข้าสู่ตลาดพรีเมียมที่ให้ความสำคัญกับ “คุณภาพจากแหล่งกำเนิด” อย่างประเทศญี่ปุ่น และเป็นผลลัพธ์ของความร่วมมือด้าน GI ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทย–ญี่ปุ่นตลอดหลายปีที่ผ่านมา
GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ไม่ใช่เพียงเครื่องหมายทางกฎหมาย แต่เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ ความโดดเด่น และภูมิปัญญาท้องถิ่นของสินค้าแต่ละแห่ง ซึ่งตลาดญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับแหล่งที่มาและความน่าเชื่อถือของสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรและอาหาร GI จึงกลายเป็น “พาสปอร์ต” สำคัญที่เปิดประตูให้สินค้าไทยเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคญี่ปุ่น พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่ม และขับเคลื่อนสินค้าเกษตรไทยสู่ระดับสากล จุดเด่นสำคัญของการได้รับการขึ้นทะเบียน GI ในญี่ปุ่น คือ สินค้านั้นจะสามารถแสดง ตราสัญลักษณ์ GI ของญี่ปุ่น บนฉลาก บรรจุภัณฑ์ หรือสื่อโฆษณาที่จำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งตรา GI ดังกล่าวเป็นเครื่องหมายที่ผู้บริโภคญี่ปุ่นรู้จักและเชื่อถือ ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่น และสามารถใช้เป็นจุดขายที่เพิ่มมูลค่าและราคาสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และองค์กรผู้ผลิตของไทยที่มีสินค้าได้รับการขึ้นทะเบียน GI ในประเทศอยู่แล้ว สามารถยื่นขอขึ้นทะเบียน GI กับญี่ปุ่นได้ ผ่านตัวแทนที่อยู่ในญี่ปุ่น หรือผ่านหน่วยงานรัฐ เช่น สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว หรือหน่วยงานที่มีความร่วมมือกับ MAFF การขึ้นทะเบียน GI ในญี่ปุ่นไม่เพียงช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาด แต่ยังเป็นการปกป้องชื่อเสียงของสินค้าไทยจากการเลียนแบบในต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
นี่คือโอกาสของ “ของดีถิ่นไทย” ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว ลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง หรือผลไม้เมืองร้อนอื่น ๆ ที่เป็นที่นิยมในตลาดญี่ปุ่น หากได้รับการส่งเสริมและขึ้นทะเบียน GI กับญี่ปุ่นอย่างเหมาะสม จะสามารถสร้างความภาคภูมิใจให้ชุมชน สร้างรายได้ที่มั่นคง และยกระดับสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดพรีเมียมได้อย่างยั่งยืน
ระบบการขึ้นทะเบียน GI ของญี่ปุ่น: ญี่ปุ่นจัดตั้งระบบการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2558 ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองชื่อของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ป่าไม้ และการประมง และผลิตภัณฑ์อาหารที่เฉพาะเจาะจง (Act on Protection of the Names of Specific Agricultural, Forestry and Fishery Products and Foodstuffs or GI Act) โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) จุดมุ่งหมายของระบบนี้คือการรับรองว่า สินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ คุณลักษณะ หรือชื่อเสียงที่เชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ต้นกำเนิดอย่างชัดเจน การรับรองดังกล่าวไม่เพียงคุ้มครองผู้ผลิตจากการลอกเลียนแบบหรือการแอบอ้างชื่อสินค้าเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศด้วย
ในเชิงกลยุทธ์ ญี่ปุ่นได้บูรณาการระบบ GI เข้ากับนโยบายส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะในบริบทของความตกลงการค้าระหว่างประเทศ เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น-สหภาพยุโรป (Japan–EU EPA) มีบทบัญญัติชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องเคารพและคุ้มครองรายชื่อสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ของอีกฝ่าย และได้ระบุรายการสินค้า GI ลงในภาคผนวก (Annex) ของบททรัพย์สินทางปัญญา (IP Chapter) ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (EPA) กับสหภาพยุโรป (EU) โดยให้การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายรวมกว่า 200 รายการ ทั้งนี้ ยังมีการขยายความร่วมมือด้าน GI กับประเทศอื่น ๆ อาทิ ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร เพื่อสร้างความมั่นคงด้านทรัพย์สินทางปัญญา และเปิดทางให้สินค้า GI ของญี่ปุ่นเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้น
โอกาสของสินค้าเกษตรไทยในตลาด GI ญี่ปุ่น: ตลาด GI ของญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้กับสินค้าเกษตรจากต่างประเทศที่มีคุณภาพและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสามารถขึ้นทะเบียนกับ MAFF ได้ โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันสินค้า GI เข้าสู่ระบบของญี่ปุ่น ปัจจุบันมีสินค้าไทยที่ได้รับการจดทะเบียนและคุ้มครองในญี่ปุ่นแล้ว 3 รายการ ได้แก่ กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง และสับปะรดห้วยมุ่นซึ่งการที่ “สับปะรดห้วยมุ่น” ได้รับการรับรองในปี 2567 นั้น ถือเป็นความสำเร็จที่แสดงถึงศักยภาพของสินค้าเกษตรไทยในการเข้าสู่ตลาดพรีเมียมที่มีมาตรฐานสูงอย่างญี่ปุ่น และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคญี่ปุ่นในด้านแหล่งที่มา คุณภาพ และอัตลักษณ์ของสินค้าไทย ตลาดญี่ปุ่นเองมีแนวโน้มให้ความสนใจกับสินค้า GI จากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่มีเรื่องราวสะท้อนวัฒนธรรม มีคุณลักษณะพิเศษ และมีความเชื่อมโยงกับภูมิศาสตร์อย่างชัดเจน
หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียน: การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) กับญี่ปุ่นภายใต้ MAFF ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพหรือชื่อเสียงที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับแหล่งภูมิศาสตร์ เช่น ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยผู้ยื่นคำขอควรเป็นองค์กรของผู้ผลิตที่มีระบบควบคุมคุณภาพร่วมกัน และต้องจัดทำข้อกำหนดผลิตภัณฑ์ (Product Specification) อย่างชัดเจน ครอบคลุมลักษณะสินค้า วิธีการผลิตเฉพาะถิ่น และระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ที่สามารถพิสูจน์แหล่งที่มาได้ พร้อมแนบหลักฐานสนับสนุน เช่น งานวิจัยหรือคำรับรอง เพื่อยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างผลิตภัณฑ์กับภูมิศาสตร์ต้นกำเนิดอย่างแท้จริง
ญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้สินค้าจากต่างประเทศสามารถขึ้นทะเบียน GI ภายใต้ระบบของ MAFF ได้ โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่าผลิตภัณฑ์นั้นต้องได้รับการขึ้นทะเบียน GI อย่างถูกต้องตามกฎหมายในประเทศต้นทางแล้ว และต้องเป็นสินค้าที่อยู่ในประเภทที่กฎหมายญี่ปุ่นให้การคุ้มครอง เช่น ผลิตภัณฑ์เกษตร อาหาร หรือเครื่องดื่มที่ไม่ใช่ยา สำหรับกระบวนการขึ้นทะเบียน ผู้ยื่นคำขอควรเป็นองค์กรของผู้ผลิตในประเทศต้นทาง เช่น สหกรณ์ สมาคม หรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และสามารถยื่นผ่านตัวแทนในญี่ปุ่นหรือสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียวได้ โดยจะต้องจัดทำเอกสาร Product Specification อย่างครบถ้วน ซึ่งต้องระบุชื่อ GI พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ลักษณะเฉพาะ วิธีการผลิต ระบบควบคุมคุณภาพ และระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) พร้อมทั้งแสดงหลักฐานทางวิชาการหรือเชิงประจักษ์ที่ยืนยันความเชื่อมโยงของผลิตภัณฑ์กับแหล่งภูมิศาสตร์ MAFF จะเปิดเผยคำขอเพื่อให้สาธารณชนสามารถยื่นคัดค้านได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน และหากไม่มีการคัดค้าน หรือพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสม จึงจะประกาศขึ้นทะเบียน GI อย่างเป็นทางการในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์นั้นได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายญี่ปุ่น และสามารถใช้เครื่องหมาย GI อย่างเป็นทางการในตลาดญี่ปุ่นได้
แนวทางผลักดันในอนาคต: ไทยสามารถต่อยอดจากความสำเร็จของการที่ “สับปะรดห้วยมุ่น” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI กับประเทศญี่ปุ่น โดยเร่งคัดเลือกสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพสูงและเป็นที่รู้จักในตลาดญี่ปุ่น เพื่อผลักดันเข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียน GI อย่างเป็นระบบในลักษณะรายกรณีสินค้า อาทิ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว รวมถึงผลไม้เมืองร้อนอื่น ๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น สินค้าเหล่านี้ล้วนมีจุดเด่นด้านรสชาติ กลิ่น สี และกรรมวิธีการผลิตที่สะท้อนถึงภูมิประเทศและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ตรงกับความสนใจของผู้บริโภคญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพ แหล่งที่มา และเรื่องราวของสินค้า การผลักดันสินค้าเหล่านี้เข้าสู่ระบบ GI ของญี่ปุ่นจะไม่เพียงเพิ่มมูลค่าและขยายช่องทางการตลาด แต่ยังช่วยยกระดับภาพลักษณ์สินค้าเกษตรไทยในสายตาของผู้บริโภคญี่ปุ่นในระยะยาว
ไทยมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความร่วมมือกับญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน โดยได้มีการลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย–ญี่ปุ่น (Japan–Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ซึ่งภายในข้อตกลงดังกล่าวได้บรรจุบทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีภาคผนวก (Annex) เฉพาะที่ให้การคุ้มครองรายการ GI ร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศอย่างเป็นระบบ แตกต่างจากกรณีของ EPA ระหว่างญี่ปุ่นกับสหภาพยุโรปที่มี Annex รายการ GI ที่ได้รับการคุ้มครองแบบอัตโนมัติทั้งสองฝ่าย การเจรจาทบทวนหรือการยกระดับความตกลง JTEPA ในอนาคต จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยสามารถเสนอการจัดทำ Annex รายการ GI ร่วมกับญี่ปุ่น เพื่อให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่มีศักยภาพสามารถได้รับการคุ้มครอง GI อย่างเป็นทางการในตลาดญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและผู้นำเข้าญี่ปุ่น รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในมิติเชิงคุณภาพระหว่างสองประเทศ
ในขณะเดียวกัน ไทยยังสามารถผลักดันสินค้า GI ของไทย ผ่านเวทีความร่วมมือกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยกับ MAFF ซึ่งมีการประชุมอย่างต่อเนื่องทุกปีภายใต้คณะอนุกรรมการว่าด้วยเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง (Sub-committee on Agriculture, Forestry and Fisheries) รวมถึงคณะอนุกรรมการพิเศษร่วมว่าด้วยความปลอดภัยอาหารที่มีสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โดยเวทีเหล่านี้สามารถเป็นช่องทางสำคัญในการหารือเชิงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือด้าน GI ระหว่างสองประเทศอย่างเป็นระบบและมีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งจะเอื้อต่อการยกระดับสินค้าเกษตรของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดพรีเมียมของญี่ปุ่นได้อย่างยั่งยืน ทั้งในแง่ของคุณภาพ มาตรฐาน และการยอมรับจากผู้บริโภคญี่ปุ่นในระยะยาว
ที่มา Early Warning เตือนภัยสินค้าเกษตร