อาหารทะเล อาหารยอดฮิตที่ประชาชนส่วนใหญ่นิยมรับประทานกันเป็นอย่างมาก ประโยชน์ของอาหารทะเลนั้นมีมากมาย เพราะเป็นแหล่งรวมโปรตีน กรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega 3) และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่แน่นอนว่าถ้าหากบริโภคในปริมาณที่มากไป รวมถึงไม่ถูกสุขลักษณะ ของทะเลไม่สด และไม่สะอาด ก็ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน อาจส่งผลให้เกิดอาหารเป็นพิษ หรือได้รับสารปรอทเข้าสู่ร่างกาย
สำหรับสารปรอท มักพบปนเปื้อนอยู่ในอากาศ น้ำ และดิน เป็นส่วนใหญ่ สาเหตุมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง การเผาขยะ ขยะผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตามบ้านเรือน และโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนั้นยังเป็นสารที่มักพบในสัตว์ที่อยู่ในอาหารทะเล เพราะโดยธรรมชาติแล้ว สัตว์ทะเลเหล่านั้นจะมีสารปรอทอยู่แล้ว สารปรอทสามารถแบ่งได้ออกเป็นหลายรูปฟอร์ม ได้แก่ โลหะปรอท สารประกอบปรอทอนินทรีย์ และสารประกอบปรอทอินทรีย์ เช่น Methyl Mercury และ Ethyl Mercury โดยปกติสารปรอทเมื่อสะสมอยู่ในปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ จะอยู่ในรูปฟอร์มสารประกอบปรอทอินทรีย์ ซึ่งเป็นรูปฟอร์มที่มีความเป็นพิษสูงกว่ารูปฟอร์มอื่น และพบในสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 เมื่อรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารดังกล่าวเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดการสะสมในร่างกายอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบประสาท ระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน ปอด ไต และอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์ และเด็กเล็ก
สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนปรอท ในปลา สัตว์น้ำ และอาหารทะเล ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2563 - 2566 จำนวน 108 ตัวอย่าง พบว่ายังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ยืนยันได้ว่าปลา สัตว์น้ำ และอาหารทะเลไทยไร้สารปรอทที่จะทำอันตรายต่อร่างกาย โดยพบปริมาณการปนเปื้อน อยู่ระหว่าง 0.001 - 0.840 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก.ต่อกก.) ซึ่งไม่เกินค่าปนเปื้อนสูงสุดทุกตัวอย่าง
อย่างไรก็ตามสารปรอท เป็นสารโลหะหนักที่ยังปนเปื้อนในอาหารได้ แม้ว่าจะผ่านกระบวนการปรุงมาแล้วก็ตาม จึงควรรับประทานแต่พอเหมาะ และหากท่านใดที่ชอบรับประทานปลา จึงแนะนำว่าให้เลือกรับประทานปลาที่บริโภคพืชเป็นหลัก เช่น ปลาสลิด ปลานิล ปลาจีน เป็นต้น และบริโภคปลาผู้ล่าที่มีชีวิตยืนยาวกว่าชนิดอื่น เช่น ปลาดาบ ปลาทูน่า เป็นต้น นอกจากนี้ควรเลี่ยงการรับประทานอาหารที่สุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืดบางชนิด เพราะอาจเสี่ยงทำให้เกิดพยาธิใบไม้ตับได้ นอกจากนี้ควรเลือกซื้ออาหารสดต่างๆ จากแหล่งตลาดสดที่สะอาด มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และถูกสุขลักษณะ และก่อนนำของสดมาทำอาหารควรล้างด้วยน้ำสะอาดก่อนทุกครั้ง และเน้นปรุงสุกด้วยความร้อนครับ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กระทรวงสาธารณสุข