เตือนการเฝ้าระวัง เพลี้ยไฟ โรคราน้ำค้างบุกสวนองุ่น
แนะเกษตรกรผู้ปลูกองุ่นให้ระวังการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟและโรคราน้ำค้าง ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยไฟมักจะมาดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก และช่อผล ในระยะที่องุ่นกำลังออกดอกและติดผล ทำให้เกิดแผลสีน้ำตาลบริเวณใกล้ขั้วช่อองุ่น ดอก ใบ และผล เกิดเป็นสะเก็ดแผลตามช่อผลองุ่น เมื่อผลองุ่นขยายผลโตขึ้น บริเวณนั้นจะแตกเป็นช่องทางให้โรคองุ่นอื่นๆเข้าทำลายได้ ส่วนช่อหรือยอดอ่อนที่ถูกทำลายตั้งแต่เล็กจะชะงักการเจริญเติบโต ทำให้ช่อ ดอก ใบ หรือผลแคระแกร็น
แนวทางป้องกันกำจัด เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่ง ยอดอ่อน ตายอด และตาข้างอย่างสม่ำเสมอ เพราะเพลี้ยไฟมักทำลายยอดองุ่นที่แตกใหม่ ให้หลีกเลี่ยงการปลูกองุ่นในพื้นที่ใกล้เคียงพืชอาศัย เช่น มะม่วง เพราะ เพลี้ยไฟ ซึ่ง มีขนาดเล็ก สามารถปลิวตามลมระบาดจากสวนมะม่วงไปยังสวนองุ่นได้ง่าย
ในช่วงองุ่นออกดอกเกษตรกรควรหมั่นตรวจดูเพลี้ยไฟ โดยบริเวณด้านที่อยู่ใต้ลมและบริเวณขอบแปลง หากพบให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร สามารถควบคุมเพลี้ยไฟได้นาน 5 วัน
โรคราน้ำค้าง อาการบนใบมักเกิดแผลสีเหลืองอ่อน หากตอนเช้ามีความชื้นสูง ใต้ใบด้านตรงข้ามแผลจะพบเชื้อราสีขาวขึ้นฟู และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ถ้าระบาดรุนแรง ก้านใบจะมีแผลช้ำ ใบจะเหลือง แห้ง และหลุดร่วง อาการที่ยอด เถาอ่อน และมือเกาะ มักพบเชื้อราสีขาว ยอดหดสั้น เถาและมือเกาะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้ง อาการที่ช่อดอกและผลอ่อน
จะพบเชื้อราสีขาว ทำให้ดอกร่วง ช่อดอกเน่า และผลอ่อนร่วง ให้หมั่นตรวจแปลงปลูกสม่ำเสมอตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง เพื่อให้มีอากาศถ่ายเท และเก็บส่วนที่เป็นโรคออกจากแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก หลีกเลี่ยงตัดแต่งกิ่งในช่วงฤดูหนาวที่อากาศมีความชื้นสูง หรือฝนตกชุก เพราะโรคจะระบาดเร็วและรุนแรง ไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีค่าไนโตรเจนสูงเกินไป จะทำให้พืชอ่อนแอต่อการเกิดโรค
ที่มา กรมวิชาการเกษตร