เตือนการเฝ้าระวัง ตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสหรือตั๊กแตนข้าว ในอ้อย
สภาพอากาศในช่วงนี้ฝนตกกระจายทั่วไป เตือนผู้ปลูกอ้อย ในระยะ อ้อยตออายุ ประมาณ 8 เดือน รับมือตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสหรือตั๊กแตนข้าว ตัวเต็มวัย กัดกินใบอ้อยเป็นรอยเว้าแหว่ง ถ้าระบาดมากจะเหลือแต่ก้านใบ ตัวอ่อนวัยที่ ๑ และ ๒ ชอบกินและอาศัยตามวัชพืช วัยที่ ๓ และ ๔ เริ่มกระจายตัวเข้าสู่ไร่อ้อย ตั๊กแตน ไฮโรไกลฟัสหรือตั๊กแตนข้าวจะกินพืชได้หลายชนิด ที่สำรวจพบมี ข้าว อ้อย ข้าวโพด ฝ้าย ถั่วเหลือง ถั่วลิสง หญ้าคา แฝก พง อ้อ ไผ่ ข้าวฟ่าง ใบมะพร้าว สาบเสือ หญ้าใบไผ่ หญ้าตีนติด ใบมันสำปะหลัง ละหุ่ง ปอแก้ว ใบมะพร้าว ใบข่า ใบสับปะรด และใบตะไคร้
ใน ๑ ปี มีการขยายพันธุ์ ๑ ครั้ง
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
๑. ใช้กับดักเหยื่อพิษ เตรียมสารละลายเหยื่อพิษ (ประกอบด้วย สารฆ่าแมลง คาร์แทปไฮโดรคลอร์ไรด์ ๕๐% เอสพี ๒๐ กรัม : เกลือแกง ๓๐ กรัม : แอมโมเนียม ไบคาร์บอเนต ๓๐ กรัม : สารจับใบ ๕ มิลลิลิตร : น้ำ ๑,๐๐๐ มิลลิลิตร) นำกระดาษขนาดประมาณ ๑๑ x ๑๕ เซนติเมตร (กระดาษ A4 แบ่ง ๔ ส่วน) ชุบสารละลายเหยื่อพิษผึ่งลมให้แห้ง นำกับดักเหยื่อพิษที่เตรียมไว้ไปวางในแปลงอ้อยบริเวณที่พบการระบาดของตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสหรือตั๊กแตนข้าว โดยให้ครอบคลุมพื้นที่จากขอบบริเวณที่มีการระบาดออกไปเป็นรัศมี ๒๐ เมตร ใช้กับดักเหยื่อพิษในอัตรา ๑๕๐-๒๐๐ กับดักต่อไร่ เสียบไว้ตามซอกใบอ้อย โดยมีระยะห่างระหว่างกับดักประมาณ ๓ x ๓ เมตร และทำการวางกับดักใหม่ทุก ๓ วัน
๒. นำมาบริโภคเป็นอาหาร โดยใช้ไฟส่องและจับในเวลากลางคืน (ห้ามนำตั๊กแตนจากพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมี หรือใช้เหยื่อพิษ มาบริโภค)
๓. พ่นด้วยสารชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืช เช่น เมตตาไรเซียม หรือบิวเวอเรีย และใช้แมลงศัตรูธรรมชาติแก้ปัญหาร่วมด้วยไปพร้อมกัน ได้แก่ วิธีการใช้แมลงหางหนีบซึ่งเป็นศัตรูของตั๊กแตนไฮไลไกลฟัสในการกำจัดอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็จะทำให้การควบคุมมีประสิทธิภาพสามารถกำจัดไข่ตั๊กแตนไฮไลไกลฟัสให้หมดไปได้
ที่มา กรมวิชาการเกษตร