เตือนการเฝ้าระวัง โรคแอนแทรคโนส หรือโรคหอมเลื้อย หรือโรคหมานอน ในหอมแดงหัวพันธุ์ (หอมต่าว) ประจำเดือน พฤษภาคม 2568
22 พ.ค. 2568
3
0
เตือนการเฝ้าระวัง
เตือนการเฝ้าระวัง โรคแอนแทรคโนส หรือโรคหอมเลื้อย หรือโรคหมานอน ในหอมแดงหัวพันธุ์ (หอมต่าว) ประจำเดือน พฤษภาคม 2568

เตือนการเฝ้าระวัง โรคแอนแทรคโนส หรือโรคหอมเลื้อย หรือโรคหมานอน ในหอมแดงหัวพันธุ์ (หอมต่าว)

     สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศร้อน มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกหอมแดงหัวพันธุ์ (หอมต่าว) ในระยะ ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคแอนแทรคโนส หรือโรคหอมเลื้อย หรือโรคหมานอน (เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides)
อาการของโรค พบได้บนใบ กาบใบ หรือ ส่วนหัว โดยเริ่มแรกพบจุดฉ่ำน้ำขนาดเล็ก ต่อมาขยายใหญ่เป็นแผลรูปกลมหรือรี เนื้อแผลยุบลงเล็กน้อย บนแผลมีหยดของเหลวสีชมพูอมส้มซึ่งเป็นกลุ่มสปอร์ของเชื้อราสาเหตุโรค เมื่อแห้งจะเห็นตุ่มเล็ก ๆ สีน้ำตาลดำเรียงเป็นวงซ้อนกันหลายชั้น ถ้าแผลขยายใหญ่หรือหลายแผลมาชนกันจะทำให้หักพับ แห้งตาย หรือเน่าตายทั้งต้น ทำให้ผลผลิตลดลงหากเป็นโรคในระยะที่ต้นหอมยังไม่ลงหัว จะทำให้ต้นแคระแกร็น ใบบิดเป็นเกลียว ถ้าอาการรุนแรงต้นจะเลื้อย ไม่ลงหัวหากเป็นโรคในระยะที่ต้นหอมเริ่มลงหัว จะทำให้หัวลีบยาว บิดโค้งงอ ส่วนกาบใบที่อยู่บริเวณเหนือหัวหอม (คอหอม) มักยืดยาว มีระบบรากสั้นกว่าปกติ ทำให้ไม่ได้ผลผลิต

แนวทางป้องกัน/แก้ไข
   1. ก่อนปลูกควรไถตากดิน 2 - 3 แดด ใส่ปูนขาว และปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อปรับสภาพดิน
   2. ใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ปราศจากโรค โดยแช่หัวพันธุ์ หรือต้นกล้าก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น โพรคลอราซ 50% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร นาน 15 - 20 นาที
   3. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรค พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น โพรคลอราช 50% WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะซอกซีสโตรบิน 25% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดฟีโนโคนาโซล 25% EC อัตรา 25 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์เบนดาซิม 50% SC อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไพราโคลสโตรบิน 25% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 5 วัน ไม่ควรพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ควรใช้สลับชนิด เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อราสาเหตุโรค
   4. ต้นที่เป็นโรครุนแรง ควรถอนนำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรค
   5. หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรเก็บซากพืชที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูกให้หมด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อสาเหตุโรค
   6. แปลงที่มีการระบาดของโรครุนแรง ควรปลูกพืชอื่นที่ไม่ใช่สกุลหอมกระเทียมสลับ อย่างน้อย 2 ปี

ตกลง