เตือนการเฝ้าระวัง โรคเหี่ยวเขียว หรือเหง้าเน่า (เชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum) ในกล้วยหิน
สภาพอากาศในช่วงนี้ภาคใต้ตอนล่าง มีฝนตก อากาศชื้น เตือนผู้ปลูกกล้วยหิน ในระยะ ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคเหี่ยวเขียว หรือเหง้าเน่า (เชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum)
- อาการที่ใบ เริ่มแรกใบธง (ใบอ่อน) แสดงอาการเหี่ยวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง จากนั้นใบล่างๆ จะแสดงอาการเหี่ยวอย่างรวดเร็วแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและยืนต้นตายในที่สุด
- อาการที่เครือ ปลีกล้วยแคระแกร็น และหากติดผล ผลจะลีบ เนื้อภายในมีสีน้ำตาลจนถึงดำ บางผลมีอาการฉ่ำน้ำและเน่าเละ ปลายผลมีสีเหลืองต่อมาเปลี่ยนเป็นสีดำ หากอาการรุนแรงมาก จะทำให้ไม่ได้ผลผลิต
- อาการที่ลำต้นเทียม เมื่อตัดลำต้นดูจะเห็นท่อน้ำท่ออาหารเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
- อาการที่หน่อ ยอดหน่อมีสีดำ หน่อแคระแกร็น และตายในที่สุด
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
การกำจัดโรค
๑. ทำลายกอกล้วยหินโดยใช้สารกำจัดวัชพืช ซึ่งมีวิธีการดังนี้
- ใช้ไม้เสียบลูกชิ้นความยาว ๘ นิ้ว แช่ในกระป๋องที่ใส่สารกำจัดวัชพืช ไตรโคลเพอร์ บิวทอกซีเอทิลเอสเตอร์ ๖๖.๘% อีซี แช่ทิ้งไว้ข้ามคืน
- นำไม้เสียบลูกชิ้นที่แช่สารกำจัดวัชพืชแล้ว เสียบที่บริเวณโคนต้นกล้วยที่เป็นโรคเหี่ยว ลึกประมาณ ๕ นิ้ว โดยเลือกเสียบที่ต้นกล้วยขนาดใหญ่ในกอ ประมาณ ๒-๓ ต้น ต้นกล้วยจะตายภายในเวลาประมาณ ๒๐-๓๐ วัน
๒. โรยปูนขาว ๕ กิโลกรัมต่อกอ ตรงบริเวณโคนและรอบรากต้นกล้วยที่เป็นโรค เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคที่อยู่ในดิน
๓. ต้นกล้วยที่เป็นโรค หากมีปลี หรือเครือกล้วย ให้ใช้ถุงพลาสติกคลุม เพื่อป้องกันแมลงที่จะมาสัมผัสเชื้อสาเหตุโรค และยับยั้งการแพร่กระจายโรคไปสู่ต้นอื่น
๔. หลังจากต้นกล้วยตาย ให้สับต้นกล้วยเป็นท่อน แล้วราดด้วย พ.ด.๑ ที่ผสมน้ำตามคำแนะนำข้างซอง ใช้ ๑ ซองต่อกอ เพื่อให้ย่อยสลายได้เร็วขึ้น ประมาณ ๓-๔ สัปดาห์ ห้ามนำต้นกล้วยที่ย่อยสลายแล้วไปเป็นปุ๋ย
๕. ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในดินอีกครั้ง โดยสับกอกล้วยที่ย่อยสลายแล้วกับดินบริเวณรอบกอกล้วย แล้วใช้ยูเรีย ๐.๕ กิโลกรัม ผสมกับ ปูนขาว ๕ กิโลกรัมต่อกอ โรยให้ทั่วกอ กลบดินบริเวณกอกล้วยให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ ๓ สัปดาห์ เมื่อยูเรียและปูนขาวได้รับความชื้นจะแตกตัวเป็นแก๊สพิษฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เมื่อครบกำหนดใช้จอบสับดินให้แก๊สพิษที่อยู่ในดินออกมา แล้วปลูกพืชได้ตามปกติ
การดูแลป้องกันต้นกล้วยที่ยังไม่เป็นโรคแต่อยู่ในแปลงที่มีต้นกล้วยเป็นโรค
ใช้ชีวภัณฑ์บาซิลัส ซับทีลิส สายพันธุ์ BS-DOA ๒๔ ของกรมวิชาการเกษตร อัตรา ๒๕ กรัม ผสมน้ำ ๑๐ ลิตรต่อกอ รดให้ทั่วรอบต้น ทุก ๓๐ วัน เป็นระยะเวลา ๑๒ เดือน
การป้องกันโรค
๑. การฆ่าเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคในดินก่อนปลูก
- ในกรณีที่ปลูกกล้วยหินพืชเดียว ฆ่าเชื้อโดยใช้ยูเรีย อัตรา ๘๐ กิโลกรัมผสมกับ ปูนขาว ๘๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ หว่านให้ทั่วแปลง ไถกลบให้ลึกพอสมควร ปาดหน้าดินให้เรียบ รดน้ำให้ชุ่มจนทั่ว ทิ้งไว้ ๓ สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดเปิดหน้าดินให้แก๊สพิษออกมา จากนั้นทำปลูกกล้วยได้ตามปกติ
- ในกรณีที่ปลูกกล้วยหินแซมพืชอื่น ฆ่าเชื้อบริเวณหลุมปลูก โดยใช้ยูเรีย ๐.๕ กิโลกรัม ผสมกับปูนขาว ๕ กิโลกรัมต่อหลุม โรยให้ทั่วหลุม กลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่มจนทั่ว ทิ้งไว้ ๓ สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดใช้จอบสับดินให้แก๊สพิษออกมา แล้วปลูกกล้วยได้ตามปกติ
๒. ใช้หน่อกล้วยปลอดเชื้อ หรือไม่ใช้หน่อกล้วยจากแปลงที่เป็นโรคมาเป็นหน่อพันธุ์
๓. หลังปลูกหน่อกล้วย รดด้วยชีวภัณฑ์บาซิลัส ซับทีลิส สายพันธุ์ BS-DOA ๒๔ อัตรา ๕๐ กรัมผสมน้ำ ๒๐ ลิตร รดให้ทั่วรอบต้นและรดซ้ำทุก ๓๐ วัน นาน ๑๒ เดือน
๔. ทำความสะอาดเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น มีดตัดผลกล้วย จอบ เสียม ทุกครั้งก่อนนำไปใช้กับต้นต่อไป โดยใช้น้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ อัตรา ๒๕๐ มิลลิลิตรผสมน้ำ ๓ ลิตร
๕. ไม่เดินจากต้นที่เป็นโรคไปยังต้นที่ไม่เป็นโรค หากจำเป็นต้องเดินให้ฆ่าเชื้อที่รองเท้าก่อน ด้วยน้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ อัตรา ๒๕๐ มิลลิลิตรผสมน้ำ ๓ ลิตร
๖. ไม่นำกล้วยหินที่เป็นโรคไปทำเป็นอาหารสัตว์
ที่มา กรมวิชาการเกษตร