เตือนการเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ประจำเดือน พฤษภาคม 2568
23 พ.ค. 2568
4
0
เตือนการเฝ้าระวัง
เตือนการเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ประจำเดือน พฤษภาคม 2568

เตือนการเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

     เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล Nilaparvata lugens (Stal) เป็นแมลงปากดูด ตัวเต็มวัย มีลำตัวสีน้ำตาล ถึงน้ำตาลปนดำ มีรูปล่าง 2 ลักษณะ คือ ชนิดปีกยาว และชนิดปีกสั้น โดยชนิดปีกยาวสามารถเคลื่อนย้ายอพยพไปในระยะทางใกล้และไกลโดยอาศัยกระแสลมช่วย ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่วางไข่ที่กาบใบข้าว หรือเส้นกลางใบ บริเวณที่วางไข่จะมีรอยช้ำเป็นสีน้ำตาล ไข่มีลักษณะรูปกระสวยโค้งคล้าย กล้วยหอม มีสีขาวขุ่น ตัวอ่อนมี 5 ระยะ ตัวเต็มวัยมีชีวิตประมาณ 2 สัปดาห์ ในหนึ่งฤดูปลูกข้าวเพลี้ยกระโดด สีน้ำตาลสามารถเพิ่มปริมาณได้ 2 - 3 อายุขัย

การป้องกันและควบคุมปริมาณเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล สามารถทำได้ดังนี้
1.หมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอหากพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้รีบกำจัด ถ้าเกิดการระบาดให้ปฏิบัติตามคำแนะนำการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
2.ไม่ขังน้ำในแปลงนาตลอดเวลา ควรปล่อยให้ระดับน้ำมีพอดีดินเปียก เพื่อให้สภาพนิเวศในแปลงนาไม่เหมาะสมต่อการขยายประชากรของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และยังทำให้มดสามารถขึ้นมากัดกินตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้อีกทางหนึ่ง
3.ในระยะก่อนข้าวตั้งท้อง เมื่อตรวจพบตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล วัยที่ 1 - 2 จำนวนมากกว่า 1 ตัวต่อต้น ให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง เช่น บูโพรเฟซิน อีโทเฟนพรอกช์ หรือไอโซโปรคาร์บ
4.ในระยะข้าวตั้งท้องถึงออกรวงเมื่อตรวจพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 10 ตัวต่อกอ หรือ 1 ตัวต่อต้น และไม่พบมวนเขียวดูดไข่หรือพบน้อยมาก ให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง เช่น ไดโนทีฟูเรน หรือไพมิโทรซีน โดยใช้อัตราตามคำแนะนำที่ระบุในฉลาก และปรึกษาเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยข้าวและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่
5.ในระยะข้าวใกล้เก็บเกี่ยวกรณีพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตัวเต็มวัยบินมาเล่นแสงไฟตามบ้านให้ใช้เครื่องดูดแมลงล่อทำลาย หรือกับดักกาวเหลืองล่อทำลาย เพื่อลดจำนวนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่จะอพยพไปยังแปลงข้าวปลูกใหม่

ที่มา กรมการข้าว

ตกลง