เตือนการเฝ้าระวัง โรคตายพราย หรือ โรคปานามา หรือ โรคเหี่ยว ในกล้วย
สภาพอากาศในช่วงนี้สภาพอากาศร้อน เตือนผู้ปลูกกล้วย ในระยะ ติดผล รับมือโรคตายพราย หรือ โรคปานามา หรือ โรคเหี่ยว (เชื้อรา Fusarium oxysporum f.sp. cubense) ใบกล้วยที่อยู่รอบนอกหรือใบแก่แสดงอาการเหี่ยวเหลือง โดยใบจะเหลืองจากขอบใบและลุกลามเข้ากลางใบ ก้านใบหักพับตรงรอยต่อกับลำต้นเทียม (กาบใบที่อัดกันแน่น เห็นเป็นต้นเหนือดิน) และจะทยอยหักพับตั้งแต่ใบที่อยู่รอบนอกเข้าไปสู่ใบด้านใน ระยะแรกใบยอดยังเขียวตั้งตรง จากนั้นเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ต่อมาใบทั้งหมดจะเหี่ยวแห้ง เมื่อตัดลำต้นเทียมตามขวางหรือตามยาว จะพบเนื้อเยื่อภายในลำต้นเทียมเน่าเป็นสีน้ำตาลตามทางยาวของลำต้นเทียม เนื้อเยื่อในเหง้าเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ต้นกล้วยชะงักการเจริญเติบโตและตายในที่สุด โรคนี้พบได้ทุกระยะการเจริญเติบโต โดยเฉพาะระยะที่สร้างปลี จนถึงระยะติดผล
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
๑. เมื่อต้องการปลูกกล้วยในพื้นที่ใหม่ ควรเลือกแปลงที่ไม่เคยพบโรคนี้มาก่อน
๒. ควรเลือกหน่อกล้วยจากแหล่งปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้ หรือไม่นำหน่อพันธุ์จากกอที่เป็นโรคไปปลูก และใช้หน่อพันธุ์ที่ไม่มีร่องรอยการติดเชื้อ ในกรณีที่ไม่แน่ใจให้ชุบหน่อพันธุ์กล้วยด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช อีไตรไดอะโซล+ควินโตซีน ๖% + ๒๔% อีซี อัตรา ๓o มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ คาร์เบนดาซิม ๕o% เอสซี อัตรา ๓o มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ทีบูโคนาโซล ๔๓% เอสซี อัตรา ๓o มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
๓. ปรับสภาพดินไม่ให้เป็นกรดจัด โดยใส่ปูนขาว หรือโดโลไมท์
๔. แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี ควรระมัดระวังการให้น้ำ ไม่ให้น้ำไหลผ่านจากต้นที่เป็นโรคไปต้นปกติ
๕. หมั่นตรวจแปลงกล้วยอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบกล้วยแสดงอาการของโรค ให้ขุดต้นที่เป็นโรคนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก แล้วโรยด้วยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุดต้นเป็นโรคออกไป
๖. อุปกรณ์การเกษตร เมื่อใช้กับต้นที่เป็นโรค ควรทำความสะอาดก่อนนำไปใช้ใหม่
๗. ในแปลงที่มีการระบาดของโรค ควรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน
ที่มา กรมวิชาการเกษตร