เตือนการเฝ้าระวัง โรคราแป้ง ในเงาะ
สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศแปรปรวน โดยอากาศจะเริ่มอุ่นขึ้นและมีฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่แต่ยังคงจะมีอากาศเย็นในตอนเช้า เตือนผู้ปลูกเงาะ ในระยะ ระยะออกดอก - ผลอ่อน รับมือโรคราแป้ง (เชื้อรา Oidium nephelii) พบโรคระบาดมากในระยะที่เงาะสร้างช่อดอก และผลอ่อน โดยพบผงสีขาวหรือสีเทาอ่อนคล้ายแป้งเกาะบนช่อดอก และตามร่องขนของผล ทำให้ติดผลน้อย หรือไม่ติดผล ถ้าติดผลจะมีขนาดเล็กไม่สมบูรณ์ หลุดร่วงง่าย หรือทำให้ผลเน่าแห้งติดคาที่ก้านช่อ หากเป็นโรคในระยะผลโตจะทำให้ขนแห้ง แข็ง ผิวผลมีสีคล้ำไม่สม่ำเสมอ ถ้าอาการรุนแรงจะทำให้ขนกุด เรียกว่า เงาะขนเกรียน ในระยะที่ผลกำลังสุกส่วนที่มีเชื้อราปกคลุมจะมีสีซีดกว่าปกติ นอกจากนี้ อาจพบอาการของโรคได้ที่ส่วนยอดและใบ หากอาการรุนแรงจะทำให้ใบอ่อนร่วง
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก และตัดแต่งทรงพุ่มเงาะให้โปร่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก เป็นการลดความชื้นในทรงพุ่ม และไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อสาเหตุโรค
2. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบเริ่มมีอาการของโรค ตัดแต่งและเก็บส่วนที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค
3. หากพบมีการระบาดของโรค พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ซัลเฟอร์ 80% WP อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรโฟรีน 19% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เบโนมิล 50% WP อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บผลผลิต อย่างน้อย 15 วัน
**** ไม่ควรพ่นสารในช่วงดอกบาน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการผสมเกสร
สำหรับสารซัลเฟอร์ ไม่ควรพ่นในสภาพอากาศร้อน หรือมีแดดจัด เพราะอาจทำให้เกิดอาการไหม้ที่ช่อดอกและผลอ่อนได้
ที่มา กรมวิชาการเกษตร