ประวัติความเป็นมา
History
  • ความเป็นมาของโครงการฯ

    โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

    สนองพระราชดำริ โดยจังหวัดชุมพร

    ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวคือ มีความหลากหลายทางพันธุกรรมพืช ความหลากหลายในชนิดพืช และความหลากหลายในระบบนิเวศน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชมาเป็นเวลานาน ก่อนที่คำว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพ (biological diversity) และอนุรักษ์ (couservation)” จะเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทย จากการเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี พ.ศ.2503 เมื่อเสด็จผ่าน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ทอดพระเนตรเห็น ต้นยางนาขนาดใหญ่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ทรงมีพระราชทานให้เก็บเมล็ดพันธุ์ยางนาไปเพาะที่ตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน และนำต้นยางนาที่เพาะได้ นำมาปลูกในสวนจิตรลดาเพื่อเป็นแหล่งศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ทรงมีพระราชดำริให้ทำการอนุรักษ์ต้นขนุนในพระบรมมหาราชวัง และได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์พรรณไม้ ในพระราชวังต่างๆ โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต่อมาในปี พ.ศ.2529 ทรงมีพระราชดำริ ให้มีการอนุรักษ์ฯและขยายพันธุ์หวายรวมทั้งดำเนินการจัดสร้างสวนสมุนไพรในโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา

     

         สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสืบต่องานอนุรักษ์พันธุกรรมพืชโดยทางมีพระราชดำริกับท่านเลขาธิการพระราชวัง ให้มีการดำเนินการอนุรักษ์พืชพรรณของประเทศ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้จัดสร้างธนาคารพืชพรรณสำหรับเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อรวมทั้งการศึกษาที่มิใช่พืชเศรษฐกิจ ให้มีการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยนำพระราชดำริฯ มาเป็นกรอบในการดำเนินการ เมื่อปี พ.ศ.2536 นายสุจินต์ ภูนิคม กำนันตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร และคณะได้ประสานงานหารือกับผู้อำนวยการบริษัทอุลตร้าโปรดักส์ จำกัด และเกษตรจังหวัดชุมพร ในการนำพื้นที่สาธารณะประโยชน์ซึ่งตั้ง ณ หมู่ที่ 6 ตำบลสลุย (ปัจจุบัน หมู่ที่ 5, 6 ตำบลสลุย และ หมู่ที่ 4, 7 ตำบลสองพี่น้อง) เพื่อจัดทำโครงการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ ซึ่งตรงกับขณะนั้นโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ก็กำลังจัดหาพื้นที่จัดทำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อมาทางโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา โดยศาสตราจารย์พิเศษประชิด วามานนท์ (ที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์) พร้อมคณะได้เดินทางมาพบผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร (นายประยูร พรหมพันธุ์) เพื่อปรึกษาหารือในการจัดทำโครงการ โดยในระยะ 5 ปีแรก ใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการอนุรักษ์พันธุ์ไม้และพิพัฒน์พรรณพืช ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดชุมพร” โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร ได้ทำโครงการเสนอความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ไปยังผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เพื่อโปรดนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองพระบาทในโอกาสอันสมควร และทางโครงการส่วนพระองค์ได้แจ้งตอบรับเรื่องการนำโครงการอนุรักษ์พันธุ์ไม้และพิพัฒน์พรรณพืชฯ จังหวัดชุมพร ทราบฝ่าละอองพระบาท เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2536 และในการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา ได้ผนวกโครงการอนุรักษ์พันธุ์ไม้และพิพัฒน์พรรณพืชฯ ของจังหวัดชุมพร เข้ากับโครงการอนุรักษ์

             จากพระราชดำริฯ ในส่วนกลางซึ่งมี ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร เป็นประธาน คณะกรรมการบริหารโครงการ นายพรชัย จุฑามาศ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์เป็นเลขานุการคณะกรรมการ และจากการประชุมคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2540 ที่ประชุม มีมติเปลี่ยนชื่อ “โครงการอนุรักษ์พันธุ์ไม้และพิพัฒน์พรรณพืชตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารี จังหวัดชุมพร” เป็น “โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนองพระราชดำริ โดยจังหวัดชุมพร

     วัตถุประสงค์โครงการ

    1. เพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมพืชและความหลากหลายทางชีวภาพ

    2. เพื่อสำรวจและเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืชท้องถิ่น พันธุกรรมพืชพันธุ์ดีของจังหวัด ของภาคใต้ และของประเทศ

    3. เพื่อปลูกรักษาพันธุกรรมพืชท้องถิ่น พันธุกรรมพืชพันธุ์ดีของจังหวัด ของภาคใต้ และของประเทศ

    4. เพื่ออนุรักษ์ และศึกษาการใช้เกิดประโยชน์จากพันธุกรรมพืช

    5. เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชให้แก่เยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไป

    6. เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดชุมพร

    พื้นที่ดำเนินงาน

    จังหวัดชุมพรมีพื้นที่ดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 3 แปลง คือ

    แปลงที่ 1 พื้นที่ 1,945-3-64 ไร่ ตั้งอยู่ หมู่ที่ 5,6 ตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ และหมู่ที่ 4,7 ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าแซะ เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่ารับร่อและป่าสลุย ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ประเภทลูกคลื่น ลอนตื้น-ลึก และพื้นที่ภูเขามีแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นลำคลอง 2 สาย คือ คลองโอน และคลองอาธรรม พืชพันธุ์ไม้เดิมถูกทำลายเสียหายโดยพายุไต้ฝุ่นเกย์ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532

    แปลงที่ 2 พื้นที่ 332-2-68 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลครน อำเภอสวี เป็นพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของหมู่บ้าน ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่ม (ปัจจุบันจัดทำเป็นพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืช เพื่อให้สภาพธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง)

    แปลงที่ 3 พื้นที่ 84-2-48 ไร่ ตั้งอยู่ หมู่ที่ 13 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้าน ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ป่าพรุ ติดกับทะเล เชิงเขา (ปัจจุบันจัดทำเป็นพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืช เพื่อให้สภาพธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง)

     
  • คลิปวีดีโอโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ
ตกลง