“ครูมุกดาหาร” ปลูกมันหวานญี่ปุ่น เป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้แซงงานประจำ
26 ก.ค. 2565
128
0
“ครูมุกดาหาร” ปลูกมันหวานญี่ปุ่น เป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้แซงงานประจำ
“ครูมุกดาหาร”ปลูกมันหวานญี่ปุ่น
“ครูมุกดาหาร” ปลูกมันหวานญี่ปุ่น เป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้แซงงานประจำ

คุณจารุพิชญา อุปัญ อยู่บ้านเลขที่ 66 หมู่ที่ 12 บ้านนาโด่ ตำบลนาโสก อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร อีกหนึ่งหญิงแกร่ง ควบคนเดียว 2 อาชีพ โดยอาชีพหลักมีบทบาทเป็นแม่พิมพ์ของชาติ และวันว่างจะสวมบทบาทเป็นเกษตรกรสาว ซึ่งผู้เขียนหวังว่าเรื่องราวของหญิงแกร่งท่านนี้น่าจะไปโดนใจใครหลายคนที่กำลังมองหาอาชีพเสริมอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากอะไรก่อน จึงอยากที่จะให้บทความนี้เป็นแนวทางให้กับทุกท่านในการหาอาชีพเสริมได้ไม่มากก็น้อย

คุณจารุพิชญา อุปัญ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำเกษตรว่า ปัจจุบันมีอาชีพเป็นคุณครูอัตราจ้าง อยู่ที่โรงเรียนในจังหวัดมุกดาหาร ส่วนการเริ่มต้นทำเกษตรเป็นอาชีพเสริมนั้น เนื่องจากพอมีความรู้พื้นฐานด้านการเกษตรอยู่บ้าง เพราะเรียนจบปริญญาตรี คณะเกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงนำเอาวิชาความรู้ตรงนี้มาทำอาชีพเสริม รวมถึงได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ไปสู่เด็กๆ ที่สอนอยู่ด้วย

เริ่มต้นปลูกจากพื้นที่เล็กๆ เพื่อศึกษา
ให้เข้าใจลักษณะของแต่ละสายพันธุ์

เจ้าของบอกว่า อาชีพเสริมการปลูกมันหวานนี้ เริ่มจากการที่ตนนั้นมีความชื่นชอบรับประทานมันหวานเป็นชีวิตจิตใจ ประกอบกับที่ตนเองนั้นมีพื้นฐานด้านงานเกษตรกรรมมาอยู่แล้ว จึงใช้โอกาสตรงนี้มาเป็นแรงผลักดันในการเรียนรู้จนเกิดเป็นอาชีพเสริมนี้ขึ้นมา แต่ถึงแม้ว่าจะมีความชอบและมีความรู้พื้นฐานก็คงไม่เท่ากับการที่ได้ลงมือทำ ก่อนทำจำเป็นต้องมีการวางแผนในหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้เทคนิคและวิธีการปลูกมันหวานญี่ปุ่น รวมถึงการเรียนรู้เรื่องของสายพันธุ์ที่เหมาะกับการนำมาปลูกในแต่ละพื้นที่ และต้องเป็นพันธุ์ที่ตลาดนิยมด้วย

โดยตนนั้นเริ่มต้นทดลองปลูกบนพื้นที่เพียง 1 งาน เพื่อศึกษาให้รู้ถึงลักษณะนิสัยของแต่ละสายพันธุ์ว่าเหมาะกับพื้นที่แบบไหน อายุการเก็บเกี่ยวเท่าไร เมื่อเริ่มชำนาญ จากนั้นก็ขยายแปลงปลูกเพิ่ม จาก 1 งาน เป็น 1 ไร่ จนถึงปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมันหวานญี่ปุ่นทั้งหมด 3 ไร่ และกำลังขยายปลูกในนาข้าวเพิ่มอีก 1 ไร่ เพื่อเตรียมพันธุ์ไว้ปลูกต่อในฤดูถัดไป ในส่วนของการปลูกมันหวานในนาข้าว จะเป็นลักษณะของนาข้าวที่ได้เก็บเกี่ยวไปแล้ว ที่พื้นดินยังมีความชื้นอยู่ก็จะนำต้นพันธุ์มาลงปลูกไว้

 

ซึ่งสายพันธุ์มันหวานที่สวนเลือกปลูกนั้นมีอยู่หลายสายพันธุ์ด้วยกัน เช่น มันหวานญี่ปุ่นส้มโอกินาวา มันม่วงญี่ปุ่น เพอเพิล สวีท มันม่วงไต้หวัน มันม่วงฮาวาย มันม่วงเกาหลี มันหวานญี่ปุ่นซิลสวีท มันหวานญี่ปุ่นเหลืองเบนิฮารุกะ และมันหวานญี่ปุ่นซากุระไวน์ โดยสายพันธุ์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ส่วนหนึ่งได้พันธุ์มาจากการสั่งซื้อออนไลน์ รวมถึงญาติพี่น้องนำพันธุ์ที่เคยปลูกแล้วได้ผลดี จึงแนะนำให้ทดลองปลูกด้วย

เทคนิคการปลูกมันหวานญี่ปุ่น
ต้นทุนต่ำ รายได้งาม

คุณจารุพิชญา บอกเล่าถึงเทคนิคการปลูกมันหวานญี่ปุ่นว่า การปลูกนั้นมีเทคนิคที่ไม่ยาก ถ้าเป็นมือใหม่หัดปลูกให้เริ่มปลูกจากสายพันธุ์ ส้มโอกินาวา และ ม่วงเพอเพิล สวีท เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ปลูกง่าย และยังเป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการ เหมาะกับการนำไปทำเป็นมันทอด ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ นั้นค่อนข้างจะปลูกยากขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง มีระยะการเก็บเกี่ยวที่ยาวนานกว่า มีกลุ่มลูกค้าในตลาดออนไลน์เป็นหลัก

เทคนิคการปลูก… มันญี่ปุ่น จะเหมาะกับการปลูกบนพื้นที่ดินร่วนปนทรายอย่างแถบภาคอีสาน การเตรียมแปลงนั้นเริ่มจากการไถพรวน รองพื้นด้วยปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ด ปริมาณ 1 กระสอบ ต่อ 1 ไร่ ผสมกับปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ไม่ต้องมาก แล้วไถพรวนยกร่องอีกครั้งเพื่อเตรียมการปลูก

ขั้นตอนการปลูกยอดพันธุ์ลงดิน… หลังจากยกร่องเตรียมแปลงเสร็จ จากนั้นนำยอดพันธุ์ที่เตรียมไว้มาปลูกลงดิน ซึ่งหากใครมียอดพันธุ์เป็นของตนเอง แนะนำว่าก่อนนำมาปลูกต้องนำไปแช่น้ำให้ยอดฟื้นตัวก่อน และต้องคำนึงถึงช่วงเวลาในการตัดด้วย ซึ่งระยะตัดยอดที่เหมาะสมคือ ช่วงเวลาตั้งแต่ 6-8 โมงเช้า เพื่อไม่ให้ยอดเหี่ยว ส่วนการปลูกนั้นให้เริ่มปลูกช่วงบ่าย เพื่อหลีกเลี่ยงให้ยอดพันธุ์ที่ปลูกใหม่ๆ โดนแสงให้น้อยที่สุด เนื่องจากตอนปลูกใหม่ๆ ต้นจะยังไม่แข็งแรง ติดช้า ถ้าปลูกช่วงบ่ายเป็นต้นไป ช่วงที่โดนแสงไปถึงเย็นจะเหลือเวลาไม่กี่ชั่วโมง เมื่อตกกลางคืนมาต้นจะฟื้นตัวเร็ว พอถึงช่วงเช้าอากาศจะเย็น ยอดจะสดชื่น แข็งแรง ฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลไปถึงการให้ผลผลิตที่เร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

ระยะปลูกระหว่างต้น… ประมาณ 20-30 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ เพราะมีการเลื้อยของเถาสั้นยาวไม่เท่ากัน

ระบบน้ำ… ที่สวนจะพึ่งเพียงน้ำฝนจากธรรมชาติเท่านั้น เนื่องจากพื้นที่ปลูกอยู่ห่างไกลระบบชลประทาน ประกอบกับที่มีเงินทุนน้อย จึงยังไม่ได้มีการวางระบบน้ำให้ดีเท่าที่ควร ซึ่งในอนาคตได้มีการวางแผนที่จะขุดบ่อบาดาล วางระบบน้ำให้ดีขึ้น เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ

ปุ๋ย… ไม่ต้องใส่เยอะ เพราะในขั้นตอนการเตรียมดินปลูกตอนแรกมีการบำรุงด้วยปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ดไปแล้ว ในช่วงการบำรุงจึงไม่จำเป็นต้องใส่เยอะ เมื่อถึงช่วงแตกเถาจำเป็นต้องบำรุงด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยการฉีดพ่น จนถึงช่วงใกล้ลงหัว จะใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ในอัตราส่วน 1 กระสอบ ต่อ 3 ไร่ แล้วฉีดพ่นน้ำหมักหอยเชอรี่เพิ่มเข้าไป ซึ่งหอยเชอรี่จะมีกลิ่นเฉพาะตัวช่วยไล่แมลงได้

อายุการเก็บเกี่ยว… ความจริงแล้ว อายุการเก็บเกี่ยวมันเทศเกือบทุกสายพันธุ์ จะเฉลี่ยอยู่ที่ 100-140 วัน ในขณะเดียวกันมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย เช่น ฤดูกาล ความสมบูรณ์ของต้น สายพันธุ์ที่ปลูก ของที่สวนค่อนข้างที่จะให้ผลผลิตเร็ว เพราะมีการเตรียมตัวที่ดี แต่ละขั้นตอนการเตรียมพันธุ์จึงทำให้สามารถเก็บผลผลิตได้เร็วเริ่มต้นที่ 90 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์เบนิฮารุกะ และซิลสวีท จะใช้เวลานานถึง 4 เดือนขึ้นไป ราคาก็จะแพงขึ้นตามระยะเวลาการปลูกและการดูแล

 
ตกลง