โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร
29 ธ.ค. 2565
213
0
โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร
โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน และ 5 กรกฎาคม 2537 กับเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน และเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2537 ได้มีพระราชกระแสกับ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. สรุปความว่า

         ให้พิจารณาวางโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำบางทรายตอนบน อำดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร และพัฒนาอาชีพของราษฎรด้านการเกษตรกรรม ด้านศิลปาชีพ ด้านการอนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธารอีกด้วย ในลักษณะการพัฒนาพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จ รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำให้พิจารณาจัดดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยพุ อ่างเก็บน้ำห้วยหอย พร้อมระบบส่งน้ำเพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรบ้านปากช่อง และบ้านหินกอง ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร สำหรับอุปโภค บริโภค และการเกษตร และให้พิจารณาพื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการชลประทานให้เป็นลักษณะโครงการสหกรณ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้วางโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ให้เป็นลักษณะการพัฒนาพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จ เพื่อพัฒนาอาชีพของราษฎรทั้งในด้านเกษตรกรรม ด้านศิลปาชีพ ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ต้นน้ำลำธาร รวมทั้งการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ โดยดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในลำน้ำสาขาห้วยบางทราย พร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อจัดหาน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภคและการเกษตรให้แก่ราษฎรตำบลกกตูม ตลอดจนให้พิจารณาพื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการชลประทานให้เป็นลักษณะโครงการสหกรณ์

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ ให้จัดหาแหล่งน้ำช่วยเหลือการทำการเกษตรปลูกและการอุปโภค-บริโภคของราษฎรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม  2537  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาจัดตั้งโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนฯ ในลักษณะการพัฒนาพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จ โดยประสานหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการเพื่อเร่งรัดการจัดหาแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคและทำการเกษตร ตลอดจนการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร และศิลปาชีพ

พื้นที่โครงการฯ ทั้งหมด 102,000 ไร่ ได้สำรวจและวางแผนการใช้ประโยชน์ออกเป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 เป็นเขตอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่า ครอบคลุมพื้นที่ 52,462 ไร่

ส่วนที่ 2 เป็นเขตพัฒนาการเกษตร ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเกษตรน้ำฝน 31,600 ไร่ และพื้นที่เขตชลประทาน 8,400 ไร่

ส่วนที่ 3 เป็นเขตพัฒนาอาชีพเสริม ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณกว่า 4,000 ไร่ และมีศูนย์ศิลปาชีพพิเศษของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้การอบรม และพัฒนาอาชีพในครัวเรือน

1. การพัฒนาด้านแหล่งน้ำ

                   ดำเนินการฝึกอบรมเสริมสร้างความเข้มแข็งและถ่ายทอดความรู้ในด้านการบริหารจัดการน้ำ ให้แก่เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำในเขตชลประทาน จำนวน 3 รุ่น มีผู้เข้าอบรม 180 คน รวมทั้งจัดเวทีประชาคมย่อยในพื้นที่ตั้งอ่างเก็บน้ำในเขตโครงการทั้ง 7 แห่ง รวมจำนวน 14 ครั้ง เพื่อระดมความคิดเห็นและสร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน  

2. การพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพ

                      ดำเนินการจัดฝึกอบรมการออกแบบและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าเพื่อเป็นของที่ระลึก สำหรับเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ในครัวเรือนราษฎร หลักสูตร 5 วัน ให้แก่ราษฎร    บ้านศรีถาวรพนา และบ้านแก่งนาง ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง รวมจำนวน 40 คน

3. การพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต                                     

                     ดำเนินการจัดจ้างครูอาสา วุฒิปริญญาตรี จำนวน 6 อัตรา เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย  นอกจากนี้ ยังได้จัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่เยาวชนระดับมัธยมศึกษาในเขต 15 หมู่บ้าน รวมจำนวน 200 คน เพื่อป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่ ดำเนินงานโครงการพัฒนาเด็กไทยไอคิวดี เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของเด็กและเยาวชน โดยการให้ความรู้และสนับสนุนกิจกรรมกลุ่มผลิตอาหารขบเคี้ยว (snack for kids) และอาหารสำหรับเด็ก จำนวน 3 กลุ่ม 50 คน จากวัตถุดิบที่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการเด็ก เช่น ถั่วเขียวผ่าซีก ลูกเดือย ถั่วลิสง งา และไข่ไก่ไอโอดีน เป็นต้น และดำเนินการส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษให้แก่สมาชิกสหกรณ์การเกษตรห้วยบางทราย จำนวน 35 คน เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้เสริม

4. การพัฒนาด้านป่าไม้

                      ดำเนินการบำรุงรักษาระบบนิเวศต้นน้ำ ปีที่ 2-6 จำนวน 500 ไร่ ปรับปรุงระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ปีที่ 7-10 จำนวน 150 ไร่ รวมทั้งเพาะชำกล้าไม้เพื่อแจกจ่ายและส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎร ประกอบด้วย กล้าไม้เศรษฐกิจ จำนวน 100,000 กล้า กล้าหวาย จำนวน 40,000 กล้า และผักหวานป่า จำนวน 10,000 กล้า

                      นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมอาชีพในรูปแบบวนเกษตร พื้นที่ 50 ไร่และลาดตระเวนป้องกันการลักลอบตัดไม้ การล่าสัตว์ป่า และปัญหาไฟป่า ในบริเวณป่าต้นน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำห้วยตาเปอะอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

  5. การพัฒนาด้านการประชาสัมพันธ์และติดตามผลการดำเนินงานโครงการ ฯ

               อำนวยการด้านงานธุรการและประสานหน่วยงานที่ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พิจารณากลั่นกรองแผนงานที่จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กปร. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังดำเนินการจัดหาวัสดุและอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และส่งเสริมด้านการขยายผลโครงการ โดยจัดประชุมเวทีชาวบ้านเพื่อคัดเลือกเกษตรกรต้นแบบ และสนับสนุนการดำเนินงานโครงการเยาวชนเรียนรู้บูรณาการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน ฯ รวมทั้งถ่ายทอดผลการดำเนินงานไปสู่ประชาชน ในสื่อรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ รายการวิทยุ “ร่มเกล้าชาวไทย” จำนวน 10 ตอน  ผลิตสปอตเกี่ยวกับข้อมูลโครงการและเผยแพร่ จำนวน 2 ชุด ผลิตและเผยแพร่สารคดี จำนวน 4 ตอน และผลิตป้ายประชาสัมพันธ์โครงการ จำนวน 3 ป้าย

ประโยชน์ที่ได้รับ

                    ทำให้ราษฎร จำนวน 14 หมู่บ้าน ในเขตพื้นที่อำเภอดงหลวง และอำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำในพื้นที่โครงการทั้ง 7 แห่ง ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่กับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ประมาณ 82,000 ไร่ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญและเกื้อกูลกับการดำรงชีวิตของราษฎรที่อยู่อาศัยในบริเวณลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน นอกจากนี้ ราษฎรในพื้นที่โครงการยังได้รับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการประกอบอาชีพอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ

 

ตกลง