ผ้าย้อมคราม ครามบุญ ต.คำอาฮวน
21 ก.พ. 2566
149
0
ผ้าย้อมคราม ครามบุญ ต.คำอาฮวน
ผ้าย้อมคราม ครามบุญ ต.คำอาฮวน
ผ้าย้อมคราม ครามบุญ ต.คำอาฮวน

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

นายถึงบุญ  ก้อนทอง ได้รักษา สืบทอด ภูมิปัญญาการย้อมผ้าฝ้าย ด้วยสีคราม เป็นสีจากธรรมชาติ ซึ่งฝ้ายเป็นเส้นใยธรรมชาติที่เก่าแก่ในโลก ที่สามารถเล่าเรื่องราวของพัฒนาการเครื่องนุ่งห่มของมนุษย์เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นมาและใช้เป็นเครื่องแต่งกาย ที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่าง ของชาติพันธุ์มนุษย์ได้อย่างดีโดยเส้นใยธรรมชาติปัจจุบัน เป็นที่ต้องการของสังคมอีกครั้งและราคาค่อนข้างสูง เพราะขบวนการผลิตที่ยุ่งยาก หาผู้ที่ทำยากขึ้น แต่ยังมีครามบุญ ที่ไม่ยอมละทิ้งภูมิปัญญา ท้องถิ่น การผลิตผ้าย้อมครามด้วยสีธรรมชาติจากภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นผู้เชื่อมต่อระหว่างวัฒนธรรมที่กำลังจะสูญหายกับวัฒนธรรมจากโลกยุคใหม่ให้สามารถอยู่ได้ด้วยกันอย่างลงตัว การย้อมผ้าฝ้ายสีธรรมชาติสีน้ำเงินได้จากต้นคราม ต้นไม้ที่ไม่เพียงให้สีธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังให้คุณสมบัติทางสมุนไพรที่มีอย่างมากมายและใช้กันต่อเนื่องจากบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน

ที่ตั้งและการติดต่อ

แหล่งผลิต: ศูนย์เรียนรู้ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ ร 9 “ครามบุญ”

เลขที่ 305 ม. 8 บ้านโคกสูงน้อย ต. คำอาฮวน อ. เมือง จ. มุกดาหาร
โทรศัพท์: 09 1061 8192, 08 1744 3307
ติดต่อสอบถาม: นางเวียง ไชยายงค์

 ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต

คุณสมบัติอันโดดเด่น เนื่องจากครามมีคุณสมบัติทางสมุนไพร ที่เชื่อกันว่า ช่วยดูดความร้อนจากร่างกาย ดูดพิษร้อนจากผู้ที่มีอาการเป็นไข้ ปวดศีรษะ และยังช่วยป้องกันรังสียูวีได้อีกด้วย ช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมเนื่องจากคุณสมบัติเด่นของผ้าฝ้ายย้อมคราม คือไม่มีสารเคมี ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง จึงไม่เป็นพิษต่อผู้ใช้และสวมใส่

ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น

ความภาคภูมิใจ ครามบุญ ยังได้รับเกียรติบัตร จากพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2562

ผ้าไหมมัดหมี่ลายแก้วมุกดา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพทอผ้าไหมบ้านภู จ. มุกดาหาร

เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้า

จ. มุกดาหาร ในอดีตเป็นเมืองชายแดนปลายพระราชอาณาเขตที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่จนจรดแดนญวน ในสมัยรัชกาลที่ 3 ครั้งเมื่อปราบกบฏเจ้าอนุวงษ์ฯ กองทัพกรุงเทพฯ และกองทัพหัวเมืองแถบลุ่มแม่น้ำโขง ได้ยกทัพข้ามโขงไปกวาดต้อนผู้คนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ดินแดนลาว) ให้อพยพข้ามโขงมาตั้งบ้านตั้งเมืองอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง (ภาคอีสาน) ให้มากที่สุดเพื่อมิให้เป็นกำลังแก่ข้าศึก จังหวัดชายแดน เช่น จ. กาฬสินธุ์ จ. สกลนคร จ. นครพนม จ. มุกดาหาร ฯลฯ จึงมีผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดมุกดาหารมีอยู่ถึง 8 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ชาวผู้ไท (ภูไท) ชาวไทยอีสาน ชาวกะโซ่ ชาวข่า ชาวแสก ชาวกุลา และชาวกะเลิง ซึ่งมีการทอผ้าฝ้ายและผ้าไหมเป็นภูมิปัญญามาตั้งแต่โบราณกาล

ต่อมาในปี 2545 นายไพรัตน์ สกลพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ได้มีดำริให้มีผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของ จ. มุกดาหาร ขึ้นตามภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ เพื่อรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมให้คงอยู่ จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผ้าเอกลักษณ์ประจำ จ. มุกดาหาร ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ ผู้เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เพื่อทำการศึกษาและเลือกลายผ้าให้เป็นเอกลักษณ์ของ จ. มุกดาหาร และได้พิจารณาให้ “ผ้าลายแก้วมุกดา” เป็นผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัด

ที่ตั้งและการติดต่อ

แหล่งผลิต : วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพทอผ้าไหมบ้านภู

ที่ตั้ง : 29/2 ม. 2 ต. บ้านเป้า อ. หนองสูง จ. มุกดาหาร

โทรศัพท์ : 0 9942 4378

ลักษณะและลวดลายการทอหรือการผลิต

ลวดลายและกรรมวิธีการทอ

ผ้าไหมมัดหมี่ลายแก้วมุกดา เป็นการนำเอาลวดลายผ้าโบราณที่มีเอกลักษณ์และมีความหมายของจังหวัดมามัดเป็นลวดลายบนเส้นไหมและทอเป็นผืนผ้า แต่ละลายมีเอกลักษณ์และความหมายสำหรับจังหวัดมุกดาหาร ดังนี้

ลายสายน้ำ (ลายง๊อกแง็ก หรือลายซิกแซก) มีลักษณะเป็นเส้นโค้งสีขาว หมายถึง สัญลักษณ์แทนแม่น้ำโขงซึ่งเป็นสายน้ำคู่ จ. มุกดาหาร ซึ่งเป็นเส้นกันเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศสาธารณะรัฐประชาชนลาว
ลายนาคน้อย (หรือลายพญานาค) เป็นสัตว์แห่งความอุดมสมบูรณ์ เกี่ยวกับพุทธศาสนาพุทธ ชาวอีสานจะมีการนับถือนาคเป็นวัฒนธรรมร่วมกัน จะปรากฏมีลายนาคในผืนผ้าชาวอีสานมากมายหลายแบบ หมายถึงพญานาคที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงเฝ้าดูแลความเป็นอยู่ของชาวเมืองมุกดาหาร
ลายดอกช้างน้าว (ลายดอกกระบวนน้อย) เป็นลายสีเหลืองดอกช้างน้าว ซึ่งเป็นไม้มงคลประจำ จ. มุกดาหาร
ลายตุ้มเล็ก (ตุ้มลายไม้) แทนดวงแก้วเล็ก (ดวงดาวในท้องฟ้า)
ลายตุ้มใหญ่ หรือลายมุก มีลักษณะเป็นดอกสีขาวหรือที่เรียกว่าลายตุ้ม หมายถึงแก้วมุกดา ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวเมืองมุกดาหาร

ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหรือโดดเด่น

ลักษณะของผ้าไหมมัดหมี่ลายแก้วมุกดา เป็นผ้ามัดหมี่ มีสี 5 สี คือ สีฟ้า สีเหลืองเข้ม สีน้ำเงิน สีขาว และสีบานเย็น คั่นลายด้วยเส้นไหม 4 สี ได้แก่ ไหมเข็นควบสีน้ำเงินและสีขาว (ไหมหางกระรอก) เส้นไหมสีบานเย็น เส้นไหมสีเหลือง เส้นไหมสีฟ้าคราม เป็นผ้าทอด้วยกี่พื้นเมือง ทอด้วย 5 กระสวย

 

ตกลง