เฝ้าระวัง 3 โรคทุเรียนในระยะพัฒนาผล
12 ก.พ. 2567
45
0
เฝ้าระวัง 3 โรคทุเรียนในระยะพัฒนาผล
เฝ้าระวัง 3 โรคทุเรียนในระยะพัฒนาผล

เตือนชาวสวนทุเรียนเฝ้าระวัง 3 โรคทุเรียนในระยะพัฒนาผล ให้น้ำใส่ปุ๋ยให้เพียงพอ พร้อมใช้เชือกโยงกิ่งและผลป้องกันผลร่วงและลำต้นหักโค่น
ทุเรียนในภาคตะวันออกจะอยู่ในช่วงระยะ พัฒนาของผล และโรคทุเรียนที่พบการระบาดในช่วงนี้ มีหลายโรคที่สำคัญ เช่น โรครากเน่าและโคนเน่า โรคราแป้ง และโรคใบจุดใบไหม้ จึงขอแนะนำให้เกษตรกรหมั่นสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอ
หากพบการระบาดของโรครากเน่าและโคนเน่า ให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช หากพบอาการโรคบนกิ่งหรือที่โคนต้น ถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก แล้วทาแผลด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช โดยสามารถใช้ตามคำแนะนำในการป้องกันกำจัดโรครากเน่าและโคนเน่า เช่น ฟอสอีทิล–อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
นอกจากนี้ ในช่วงที่อากาศแห้งแล้งและเย็นอาจพบการระบาดของโรคราแป้ง ให้พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช ไพราโซฟอส 29.4% W/VEC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
ส่วนโรคใบจุดใบไหม้พบได้ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง แต่จะพบมากในช่วงฤดูแล้ง หากพบอาการของโรคให้พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช อะซอกซีสโตรบิน 25% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
สำหรับการให้น้ำในช่วงเริ่มติดผลได้ 1 สัปดาห์ แนะนำให้ค่อยๆเพิ่มปริมาณการให้น้ำขึ้นเรื่อยๆ และสามารถให้น้ำในอัตราปกติหลังการติดผล 3 สัปดาห์ การให้น้ำต้องให้อย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ ตลอดช่วงพัฒนาการของผลทุเรียน และให้ใส่ปุ๋ยหลังการตัดแต่งผลครั้งสุดท้ายเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของผล โดยใส่ปุ๋ยเมื่อผลมีอายุ 7 สัปดาห์ ร่วมกับการพ่นโปแตส เซียมไนเตรต เพื่อควบคุมการแตกใบอ่อน ตัดแต่งผลที่มีพัฒนาการผิดปกติ มีขนาดเล็ก หนามแดง หรือมีโรคแมลงเข้าทำลายให้ตัดทิ้ง และควรมีการโยงกิ่งและผลทุเรียนเพื่อป้องกันการหักโค่นของลำต้นและผลร่วง
อย่างไรก็ตาม วิธีการที่ได้ผลที่สุดในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชคือ การใช้วิธีแบบผสมผสาน เช่น การทำเขตกรรม ใช้พันธุ์ต้านทานเพื่อลดการเกิดโรค บำรุงดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของพืช กำจัดวัชพืช ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง กำจัดส่วนที่เป็นโรคเพื่อลดประชากรของเชื้อสาเหตุ.

ตกลง