ถั่วฝักยาว สรรพคุณและประโยชน์ของถั่วฝักยาว
10 พ.ย. 2563
40,769
0
ถั่วฝักยาว สรรพคุณและประโยชน์ของถั่วฝักยาว
ถั่วฝักยาว สรรพคุณและประโยชน์ของถั่วฝักยาว

ถั่วฝักยาว

ถั่วฝักยาว ชื่อสามัญ Yard long bean

ถั่วฝักยาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Vigna unguiculata (L.) Walp. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Vigna sinensis (L.) Savi ex Hausskn., Vigna sinensis (L.) Savi ex Hassk., Vigna unguiculata subsp. unguiculata) ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vigna unguiculata subsp. sesquipedalis (L.) Verdc. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)

ถั่วฝักยาว มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและอินเดีย จัดเป็นผักที่ชาวเอเชียนิยมรับประทาน และยังเป็นผักที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย เพราะนอกจากจะใช้ปรุงเป็นอาหารได้อย่างหลากหลายแล้ว ยังใช้เป็นวัตถุดิบในด้านอุตสาหกรรมแช่แข็งและบรรจุกระป๋องอีกด้วย

ลักษณะของต้นถั่วฝักยาว

ลำต้นเป็นไม้เลื้อย เถาเป็นสีเขียวอ่อน เถาจะแข็งและเหนียวคล้ายกับถั่วพู ลำต้นม้วนพันสิ่งยึดเกาะได้ ลักษณะของใบเป็นใบประกอบแบบฝ่ามือ มี 3 ใบย่อยลักษณะคล้ายรูสามเหลี่ยมยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ส่วนลักษณะของดอกถั่วฝักยาว จะออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบดอกเป็นสีขาว (หรือน้ำเงินอ่อน) ฝักมีลักษณะกลม (เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร) ยาวประมาณ20-80 เซนติเมตร และในฝักมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด

ถั่วฝักยาวประกอบไปด้วยด้วยวิตามินและแร่ธาตุสำคัญ ๆ หลายชนิดไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ วิตามินบี ธาตุเหล็ก ซัลเฟอร์ ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม และที่สำคัญยังเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยวิตามินซี โฟเลต แมกนีเซียม และแมงกานีสอีกด้วย ซึ่งนับว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมากเลยทีเดียว

ประโยชน์ของถั่วฝักยาว

  1. ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน
  2. ฟอสฟอรัสมีส่วนช่วยเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน
  3. วิตามินซีช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเกิดโรคหวัด
  4. ถั่วฝักยาวมีประโยชน์ช่วยป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
  5. ช่วยแก้กระหาย ให้รสชุ่มชื่น ด้วยการใช้เมล็ดแห้งหรือสดนำมาคั้นสดหรือต้มกินกับน้ำ (เมล็ด)
  6. ช่วยแก้อาเจียน ด้วยการใช้เมล็ดแห้งหรือสดนำมาคั้นสดหรือต้มกินกับน้ำ (เมล็ด)
  7. สำหรับเด็กที่เบื่ออาหารเนื่องจากกระเพาะอาหารทำงานไม่ดี ให้ใช้รากสดนำมาผสมกับรากเถาตดหมาตดหมู แล้วนำมาตุ๋นกินกับเนื้อวัว จะช่วยแก้อาการเบื่ออาหารได้ (ราก)
  8. ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นท้อง เรอเปรี้ยว ด้วยการเคี้ยวฝักสดกิน (ฝัก)
  9. ใช้ใบสดประมาณ 60-100 กรัมนำมาต้มกับน้ำ ใช้รักษาโรคหนองในและอาการปัสสาวะเป็นหนอง (ใบ)
  10. ใช้เป็นยาบำรุงม้ามและไต ด้วยการใช้เมล็ดแห้งหรือสดนำมาคั้นสดหรือต้มกินกับน้ำ หรือจะใช้รากนำมาตุ๋นกินเนื้อก็ได้เช่นกัน (ฝัก, ราก, เมล็ด)
  11. ใช้ถั่วฝักยาวสดหรือเมล็ดนำมาต้มกับน้ำผสมกับเกลือ ใช้รับประทานเป็นยาบำรุงไต (ฝัก, เมล็ด)
  12. ใช้รากสดนำไปเผาแล้วบดจนละเอียด ผสมกับน้ำแล้วใช้ทาเป็นยารักษาโรคหนองในที่หนองไหล (ราก)
  13. ถั่วฝักยาวมีสรรพคุณทางยาช่วยรักษาฝีเนื้อร้าย ช่วยทำให้เนื้อเยื่อเจริญเร็วขึ้น ด้วยการใช้รากสดนำไปเผาแล้วบดจนละเอียดผสมกับน้ำแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็น (ราก)
  14. ช่วยแก้อาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย ด้วยการใช้เมล็ดแห้งหรือสดนำมาคั้นสดหรือต้มกินกับน้ำ (เมล็ด)
  15. ช่วยแก้ตกขาว ด้วยการใช้เมล็ดแห้งหรือสดและผักบุ้งนำมาตุ๋นกับเนื้อไก่รับประทาน จะช่วยแก้อาการตกขาวได้ (เมล็ด)
  16. ช่วยรักษาอาการปวดบวม ปวดตามเอว และรักษาแผลที่เต้านม ด้วยการใช้เปลือกฝักประมาณ 100-150 กรัมนำมาต้มกิน หรือใช้ภายนอกด้วยการนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่ปวด (เปลือกฝัก)
  17. เมนูถั่วฝักยาว เช่น แกงส้มถั่วฝักยาว ถั่วฝักยาวผัดกะปิกุ้ง ถั่วฝักยาวผัดกุ้ง หมูผัดพริกแกงถั่วฝักยาว ผัดเป็ดถั่วฝักยาวหมูสับ หมูผัดเต้าเจี้ยวถั่วฝักยาว ผัดพริกขิงหมูใส่ถั่วฝักยาว กระเพาะหมูใส่ถั่วฝักยาว ถั่วฝักยาวผัดเต้าหู้ยี้ ฯลฯ

คุณค่าทางโภชนาการของถั่วฝักยาวต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 47 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 8.35 กรัม
  • ไขมัน 0.4 กรัม
  • โปรตีน 2.8 กรัม
  • วิตามินเอ 43 ไมโครกรัม 5%
  • วิตามินบี 1 0.107 มิลลิกรัม 9%
  • วิตามินบี 2 0.11 มิลลิกรัม 9%
  • วิตามินบี 3 0.41 มิลลิกรัม 3%
  • วิตามินบี 5 0.55 มิลลิกรัม 11%
  • วิตามินบี 6 0.024 มิลลิกรัม 2%
  • วิตามินบี 9 62 ไมโครกรัม 16%
  • วิตามินซี 18.8 มิลลิกรัม 23%
  • ธาตุแคลเซียม 50 มิลลิกรัม 5%
  • ธาตุเหล็ก 0.47 มิลลิกรัม 4%
  • ธาตุแมกนีเซียม 44 มิลลิกรัม 12%
  • ธาตุแมงกานีส 0.205 มิลลิกรัม 10%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 59 มิลลิกรัม 8%
  • ธาตุโพแทสเซียม 240 มิลลิกรัม 5%
  • ธาตุสังกะสี 0.37 มิลลิกรัม 4%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

คำแนะนำ : สำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูก ไม่ควรนำมาเมล็ดของถั่วฝักยาวมารับประทาน

ถั่วฝักยาวแม้จะมีประโยชน์ แต่สิ่งที่คุณต้องระวังให้มากนั่นก็คือสารพิษจากยาฆ่าแมลงตกค้าง ซึ่งจากการสุ่มตรวจเพื่อหาการตกค้างของยาฆ่าแมลงในกลุ่มคาร์บาเมตและไพรีทรอยด์ ก็มักจะพบสารเหล่านี้แทบทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารไซเพอร์เมทรินและเมโทมิลที่ไม่รู้จักหมดไปเสียที ซึ่งวิธีการป้องกันง่าย ๆ สำหรับผู้บริโภคคือ การนำผักมาล้างให้สะอาดหลาย ๆ ครั้ง เพื่อลดปริมาณยาฆ่าแมลงที่ตกค้างให้เจือจางลงกว่าเดิม เพื่อความปลอดภัยและไม่ให้เป็นโทษต่อร่างกาย

แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN), เว็บไซต์เดอะแดนดอทคอม, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

ตกลง