ประวัติความเป็นมา
History
  • พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560

              การเปลี่ยนแปลงบริบททางด้านเศรษฐกิจของโลกส่งผลให้ประเทศไทยปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรจากระบบเกษตรเพื่อการส่งออกเป็นระบบเกษตรอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรและเกษตรกรเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาจำนวนมาก แต่เนื่องจากโครงสร้างในระบบเกษตรพันธสัญญายังขาดความสมดุลและไม่เป็นธรรม และขาดกลไกในการถ่วงดุล เนื่องจากไม่มีหน่วยงานกลางภาครัฐและกฎหมายรองรับการประกอบการในการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ทำให้เกิดพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบและการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ จึงได้เสนอเรื่องข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปตามมาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เรื่อง การปฏิรูประบบเกษตรพันธสัญญาให้เป็นธรรม โดยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ต่อรัฐบาล เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจและเกษตรกรเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา โดยให้ภาครัฐมีบทบาทหน้าที่ในการกำกับตรวจสอบ ควบคุม และพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 รับทราบข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ เกี่ยวกับการให้มีกฎหมายว่าด้วยเกษตรพันธสัญญาเพื่อดำเนินการดังกล่าว รวมทั้ง ให้มีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่พัฒนาและส่งเสริมระบบเกษตรพันธสัญญา โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักรับไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอดังกล่าว  

              คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยมีสาระสำคัญในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม กำหนดกลไกส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา กำหนดแนวทางให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการให้เป็นไปตามแผน กำหนดรูปแบบของสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา และออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรียังมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับประเด็นดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับข้อสังเกตของกระทรวงพาณิชย์และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เห็นควรให้คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญากำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามกลไกที่กฎหมายกำหนด โดยสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดตั้งสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการฯ รวมทั้ง เตรียมความพร้อมล่วงหน้าทั้งด้านบุคลากร การทำความเข้าใจในสาระสำคัญของกฎหมายอย่างชัดเจน และเตรียมการดำเนินงานเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนเผยแพร่ให้ความรู้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบธุรกิจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลการทำการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญาที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติฯ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2560

     

     

  • สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา

              พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 มาตรา 6 กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา โดยมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแผนการพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ กำหนดแนวทางให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการให้เป็นไปตามแผน กำหนดรูปแบบของสัญญา ส่งเสริมให้มีการทำประกันภัยในระบบเกษตรพันธสัญญา เสนอแนะหน่วยงานของรัฐให้ตราหรือแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา และให้คำแนะนำหน่วยงานของรัฐในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญา และมาตรา 14 กำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ รวมทั้ง พระราชบัญญัติฯ ยังได้กำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

              กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีคำสั่งที่ 512/2560 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2560 เรื่อง การจัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อจัดตั้ง 1. ทำหน้าสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ขึ้น โดยมีสถานะเทียบเท่ากองอยู่ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทำหน้าที่ 

              1. ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา และเลขานุการคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และคณะกรรมการเปรียบเทียบรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง
              2. รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลและสภาพปัญหาเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมในระบบเกษตรพันธสัญญาเสนอต่อคณะกรรมการ เพื่อประกอบการพิจารณาในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
              3. จัดให้มีการศึกษาวิจัยหรือสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญที่เป็นธรรม
              4. พิจารณาปัญหาเกี่ยวกับระบบเกษตรพันธสัญญา และนำเสนอคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาดำเนินการให้คำแนะนำหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาโดยต้องคำนึงถึงอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงาน
              5. เผยแพร่ ให้ความรู้ และให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการทำสัญญา การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เทคโนโลยีทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องในระบบเกษตรพันธสัญญา และการทำเกษตรกรรมในระบบเกษตรพันธสัญญา
              6. ดำเนินการเกี่ยวกับการจดแจ้ง จัดทำและยกเลิกทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร รวมทั้งเพื่อเปิดเผยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนปรับปรุงระบบทะเบียนให้เป็นปัจจุบัน
              7. ดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา
              8. ดำเนินการเกี่ยวกับการเปรียบเทียบปรับในกรณีการกระทำความผิดที่กำหนดในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา
              9. ศึกษาและจัดทำข้อพิจารณาเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้อำนาจตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา
              10. ติดตามและประสานงานกับหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญาเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา
              11. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย

ตกลง