เกษตรง่ายๆสู้ภัยโควิดกับครูชาตรี Ep 4
13 ม.ค. 2565
309
0
เกษตรง่ายๆสู้ภัยโควิดกับครูชาตรี Ep 4
เกษตรง่ายๆสู้ภัยโควิดกับครูชาตรี Ep 4

เกษตรง่ายๆสู้ภัยโควิดกับครูชาตรี Ep 4

ปรุงดินอย่างไรให้เหมาะกับพืช

ถ้าเรามองลึกลงไปในดินที่ยังบริสุทธิไม่มีสารเคมีเจือปน เราจะพบสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่สามารถมองเห็น และมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สิ่งมีชีวิตเล็กๆ เหล่านี้ช่วยให้ดินมีพลัง ทำให้พืชเจริญงอกงาม สมบูรณ์ แข็งแรง ทนทาน ปราศจากโรคและแมลงศัตรูพืชรบกวนซึ่งต้นไม้เหล่านั้นจะเจริญเติบโตโดยไม่มีผู้ใดมาใส่ปุ๋ยและไม่มีใครพ่นสารเคมีป้องกันหนอน และแมลง ต้นไม้บางต้นจะผลิดอกออกผลดกตรงตามฤดูกาล
ถ้าเราขุดคุ้ยลงไปในดินเราจะเห็นลักษณะของดินจะมีเศษซากใบไม้ที่เน่าเปื่อยผุพังปะปนอยู่
แต่...ดินในบ้านเราตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นดินที่ตายแล้วหรือกำลังจะตายเพราะดินวันนี้จะไม่มีผู้ผลิต(จุลินทรีย์) ไม่มีต้นไม้ ไม่มีพืช เป็นดินโล้น แล้ง ร้อน ดินบางแห่งถูกเผาด้วยไฟ ด้วยสารเคมี ด้วยแดด สัตว์หน้าดิน ในดิน เช่น ไส้เดือน จุลินทรีย์ ฯลฯ จะตายหมด เพราะไม่มีสิ่งปกคลุมนอกจากนี้
ดินที่จุลินทรีย์ผู้ย่อยสลาย ไม่มีที่อาศัย ไม่มีอาหาร ไม่มีการแพร่พันธุ์ ดินที่ปกคลุมด้วยไอพิษ สิ่งที่มีชีวิต เช่น แมลงปอ แมงมุม กบ นก ผีเสื้อ ผึ้ง ฯลฯ อยู่ไม่ได้ จะเกิดโรคพืชระบาด และขาดออกซิเจน
เราจะปลุกให้ดินมีชีวิตอย่างไร วันนึครูชาตรีจะขอพูดถึงแนวคิดการปรับปรุงดินให้มีชีวิตปลูกพืชแล้วงามสมใจ หลักการปรุงดินมี4ข้อหลัก
1 เลี้ยงดินให้อิ่ม
2.สร้างอากาศให้รากพืชได้หายใจ
3.ห่มดินให้อุ่น
4.หาเพื่อนให้ดิน
จากหลักการทั้ง4ข้อ วันนี้จะเรียนรายละเอียดข้อที่1 ก่อนนะครับ ถ้าเรียนครบ4ข้อน่าจะยาวมาก พรุ่งนี้ค่อยเรียนข้ออื่นนะครับ

1.เลี้ยงดินให้อิ่ม
ส่วนประกอบของดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืช
ดินมีที่มาจากการผุกร่อนย่อยสลายตัวของหินและแร่ร่วมกับการย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์คลุกเคล้าผสมกัน ผ่านระยะเวลาอันยาวนานจนถือว่าเป็นกำเนิดเป็นดินในที่สุด
สำหรับในส่วนของอินทรียวัตถุ คือ ซากพืช ซากสัตว์ทุกชนิดสลายตัวด้วยจุลินทรีย์ สารอินทรีย์ที่ได้จากการย่อยสลาย และส่วนที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่จากกระบวนการย่อยสลาย เป็นส่วนที่ดินขาดมากที่สุด จึงต้องมีการปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืช
ดังนั้นการที่เราจะสร้างดินให้มีชีวิตเหมาะสมสำหรับพืชคือการเลี้ยงดินให้อิ่ม อาหารที่ดินชอบคือ อินทรียวัตถุ
แล้วอินทรียวัตถุมาจากไหน ....อินทรีย์วัตถุมาจากซากพืช ซากสัตว์ ผลพลอยได้จากสัตว์ มูลของสัตว์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด รวมทั้งน้ำหมักชนิดต่างๆ

เราจะรู้อย่างไรว่าอาหารที่เติมให้กับดินแล้วเหมาะสมดินกินแล้วอิ่ม

พืชต้องการธาตุอาหารกลุ่มใหญ่ๆ2กลุ่มคือ
1.ธาตุอาหารหลัก ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปรแตสเซียม ธาตุเหล่านี้พืชต้องการในแต่ละช่วงต่างกัน
ไนโตรเจน (N )ระยะสร้างต้นอ่อน ระยะเติบโต ในสภาวะขาดแคลน : สีของใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ขนาดของใบเล็กลง ลำต้นแคระแกร็น และมีผลผลิตต่ำ
ฟอสฟอรัส(P)พืชต้องการสร้างดอกและระบบราก ในสภาวะขาดแคลน : ระบบรากของพืชไม่สามารถเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ ใบแก่จะมีการเปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีม่วงแล้วกลายเป็นสีน้ำตาลและหลุดร่วง ลำต้นแคระแกร็น และไม่ผลิดอกออกผล
โปรแทสเซียม(K) เสริมสร้างการเจิญเติบโตของผล ในสภาวะขาดแคลน : ลำต้นไม่แข็งแรง การเจริญของดอกและผลไม่สมบูรณ์ ผลผลิตมีคุณภาพต่ำ โดยเฉพาะผลผลิตที่เน้นด้านรสชาติและสีสัน
2.ธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารกลุ่มนี้มักถูกลืม ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงมากนัก ธาตุอาหารรองเป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการน้อยก็จริง แต่พืชขาดไม่ได้ ธาตุอาหารรองเหล่านี้ได้แก่
.แคลเซียม (Ca)
ช่วยในการแบ่งเซลล์ ผสมเกสร การงอกของเมล็ด มีส่วนสำคัญต่อโครงสร้างของเซลล์พืช ช่วยในการลำเลียงอาหาร
ถ้าดินขาดธาตุนี้ : มีการเจริญของใบใหม่ที่ไม่สมบูรณ์ ตายอดไม่เจริญ อาจมีจุดดำที่เส้นใบ รากสั้น และให้ผลผลิตคุณภาพต่ำ
แมกนีเซียม
เป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ ช่วยในการสังเคราะห์กรดอะมิโน วิตามิน ไขมันและน้ำตาล ช่วยในการสังเคราะห์แสง
ถ้าดินขาดธาตุนี้ : มีการเจริญของใบไม่สมบูรณ์ ใบแก่จะเปลี่ยนสีและร่วงโรยในเวลาอันรวดเร็ว

กำมะถัน
เป็นองค์ประกอบของกรดอะมิโน วิตามินและโปรตีน ช่วยสร้างคลอโรฟิลล์ ช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของรากและเมล็ดพืช ทำให้พืชแข็งแรงและทนต่อความเย็น
ถ้าดินขาดธาตุนี้ : มีการเจริญของใบและลำต้นไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้ลำต้นอ่อนแอ

กลุ่มธาตุอาหารเสริม
โบรอน (ธาตุที่ทำหน้าที่ช่วยให้พืชสามารถดูดซึมแคลเซียมและไนโตรเจนได้ดีช่วยในการออกดอกและการผสมเกสรของพืช นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนย้ายน้ำตาลมาสู่ผล การเคลื่อนย้ายฮอร์โมน และการแบ่งเซลล์ของพืชอีกด้วย
ถ้าดินขาดธาตุนี้ : มีการเจริญของตายอด การแตกกิ่งและการออกผลไม่สมบูรณ์ ลำต้นแคระแกร็น ลักษณะของใบจะอ่อนและบางลง

ทองแดง (Cu)

หนึ่งในธาตุที่มีส่วนช่วยในกระบวนการสร้างคลอโรฟิลล์ เป็นหนึ่งในตัวเร่งปฏิกิริยาหรือตัวกระตุ้นในกระบวนการต่าง ๆ ของพืช เช่น กระบวนการหายใจ การทำงานของเอนไซม์ การสร้างอาหารและกระบวนการสืบพันธุ์ ซึ่งส่งผลต่อการผลิดอกออกผลของพืช
ถ้าดินขาดธาตุนี้ : มีการเจริญของตายอดและลำต้นไม่สมบูรณ์ มีการเปลี่ยนสีของใบอ่อนเป็นสีเหลือง เส้นใบเปลี่ยนสีเป็นสีชมพูขาวจาง ลักษณะใบเหี่ยวเฉาและร่วงโรยได้ง่าย

เหล็ก (Fe)

หนึ่งในธาตุที่เป็นองค์ประกอบของโปรตีน ซึ่งมีส่วนช่วยในกระบวนการสังเคราะห์แสงและการผลิตอาหารของพืช มีบทบาทในการกระตุ้นกระบวนการหายใจ และการเจริญเติบโตให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์
ถ้าดินขาดธาตุนี้ : ใบอ่อนมีสีขาวหรือเหลืองซีด ในขณะที่ใบที่เจริญแล้วไม่แสดงอาการเจ็บป่วย

แมงกานีส (Mn)

ธาตุอาหารที่มีส่วนช่วยในกระบวนการสังเคราะห์แสงและการทำงานของเอนไซม์ มีผลต่อการเจริญของใบ ดอกและการออกผล นอกจากนี้ แมงกานีสยังมีบทบาทในการควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการนำธาตุเหล็กและไนโตรเจนมาใช้ประโยชน์อีกด้วย
ถ้าดินขาดธาตุนี้ : ใบอ่อนของพืชจะมีสีเหลืองและสีอ่อนจาง ในขณะที่เส้นใบยังคงมีเขียวสด ซึ่งส่งผลต่อการเหี่ยวเฉาและร่วงโรยของใบพืชในเวลาต่อมา

โมลิบดินัม (Mo)

ธาตุอาหารที่มีส่วนช่วยแบคทีเรียและจุลินทรีย์ในดินสำหรับการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ ซึ่งส่งผลต่อการสังเคราะห์โปรตีนและการทำงานของไนโตรเจนในพืช อีกทั้ง ยังมีบทบาทในการสร้างคลอโรฟิลล์ และการเปลี่ยนรูปของสารประกอบฟอสฟอรัสอีกด้วย
ถ้าดินขาดธาตุนี้ : ใบของพืชจะมีลักษณะโค้งงอหรือม้วนลง มีสีเหลืองส้มและสีอ่อนจาง มีจุดประขึ้นตามแผ่นใบ มีดอกและผลแคระแกร็น จากการเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์
ตั้งใจจะให้จบเรื่องเลี้ยงดินให้อิ่ม คงต้องต่อพรุ่งนี้แล้วครับ พรุ่งนี้เราจะพูดถึงแหล่งที่มาว่าธาตุเหล่านี้มาจากอินทรีย์วัตถุประเภทใด ทีเราใส่แล้วพืชไม่ขาด

ที่มา เรียนเกษตรง่ายๆสู้ภัยโควิดกับครูชาตรี

ตกลง